• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคคอเกร็ง

ถาม : วราพร/นนทบุรี

เดือนที่แล้วเริ่มต้นมีอาการคอหันซ้าย-ขวาลำบาก (คล้ายอาการนอนตกหมอน) ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด(ดึงคอ อัลตราซาวนด์ ประคบร้อน) ก็ไม่ดีขึ้น ทำ MRI พบว่ากระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกปลิ้น และกระดูกข้อ C6,C7 ขบกัน (คุณหมอสันนิษฐานว่าเป็นผลจากการลื่นหกล้มเมื่อ ๒ ปีก่อน) ประกอบกับอาการต่อมาคือ ใบหน้าหันขวาตลอด (ผลจากที่กล้ามเนื้อมัดที่คอคด ดึง-ทราบ ภายหลังจากคุณหมอ)

ต่อมารักษาด้วยการฝังเข็มและจัดกระดูก (ประมาณ ๒ เดือน) อาการใบหน้าเอียงขวาและหันซ้ายขวายังไม่ดีขึ้น

 ล่าสุด คุณหมอกระดูกส่งต่อ case ให้หมอทางอายุรกรรม-เส้นประสาทและสมอง ซึ่งได้แจ้งว่าเป็นอาการ Cervical, Dystonia ที่บริเวณกล้ามเนื้อคอ วิธีการรักษาคือ การรักษาตามอาการ ด้วยการฉีดโบท็อกซ์ (Botox) กล้ามเนื้อคอมัดที่ทำงานผิดปกติ แต่จะมีผลประมาณ ๑ เดือน ก็ต้องมาฉีดใหม่ ถึงปัจจุบัน สามารถหันซ้าย-ขวาได้ดีขึ้นบ้าง(ฉีดโบท็อกซ์ได้ ๒ สัปดาห์ แต่กล้ามเนื้อแขน ยังมีอาการอ่อนแรงอยู่)

ขอถามปัญหาดังนี้

มีแนวทางการรักษาอย่างอื่นที่ดีกว่าโบท็อกซ์หรือไม่ หรือแนวทางปฏิบัติด้วยตัวเอง

ควรจะออกกำลังกายร่วมด้วยหรือไม่และอย่างไร จึงจะเหมาะสมการว่ายน้ำจะดีหรือไม่

ทุกวันนี้แขนอ่อนแรง เป็นผลจากกระดูกคอเสื่อมใช่หรือไม่

 

ตอบ : นพ.สุรชัย  ปัญญาพฤทธิ์พงศ์

            อาการของคุณที่มีใบหน้าหันขวาตลอดจากกล้ามเนื้อที่คอเกร็งซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Cervical Dystonia หรือโรคคอเกร็ง เกร็ง เกิดจากกล้ามเนื้อมีการหดตัวตลอดเวลา ทำให้เกิดลักษณะท่าทีผิดปกติและไม่สามารถเคลื่อนไหวตามปกติได้

            โรคคอเกร็งมักเกิดในผู้ที่มีอายุเฉลี่ยช่วง ๔๐ ปี พบบ่อยในผู้หญิงอาการจะมากขึ้นในเวลาเดินหรือเกิดความเครียด และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก หรือนอนหลับ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อได้พักหรือนอนหลับผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีขึ้นเองและอาการแย่ลงสลับกันเป็นระยะๆ

            เป้าหมายการรักษาเพื่อลดอาการเกร็ง ปวด ลดการเคลื่อนไหวผิดปกติ และป้องกันข้อติดยึด การรักษาด้วยยามีหลายชนิด แพทย์มักจะเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

          ส่วนยาฉีดโบท็อกซ์ได้ผลดีในรายที่เป็นเฉพาะที่ นอกจากนั้นยังมีวิธีการรักษาโดยการผ่าตัด และการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมอง

          การรักษาด้วยโบท็อกซ์นั้นแพทย์จะฉีดยาเข้าไปที่มัดกล้ามเนื้อที่เกร็ง ตรงตำแหน่งที่ใกล้กับปลายประสาทที่กระตุ้นการเกร็ง อาจจะฉีดจุดเดียวหรือหลายจุด แล้วแต่ขนาดของกล้ามเนื้อ ฤทธิ์ของยาจะทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นอ่อนแรงลงแพทย์จะใช้ขนาดยาที่พอเหมาะเพื่อให้กล้ามเนื้อมัดนั้นยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ

            ยาโบท็อกซ์มีหลายชนิด จะออกฤทธิ์สูงสุดหลังจากฉีดในเวลา ๒-๖ สัปดาห์ หรือ ๑๒-๑๖ สัปดาห์ แล้วแต่ชนิด เมื่อยาออกฤทธิ์ลงและกล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว แพทย์อาจฉีดยาซ้ำ แต่มักจะไม่เร็วกว่า ๓ เดือน

          อาการแขนอ่อนแรงอาจเกิดจากกระดูกคอเสื่อม ซึ่งมักมีอาการขาร่วมด้วย การรักษาด้วยวิธีการกายภาพบำบัด และการบริหารกล้ามเนื้อคอและแขนเป็นวิธีการรักษาที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ถ้าอ่อนแรงมากแขนและมือชามากจนรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวันและประกอบอาชีพ อาจรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกคอ

           การออกกำลังกายถ้าไม่ทำให้ปวดหรือเมื่อยล้าสามารถทำได้ และการว่ายน้ำก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่ง