• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

ถาม : รณภพ/กรุงเทพฯ

ขอถามปัญหาดังนี้ มีอาการปวดเมื่อยล้าหัวไหล่มาประมาณ ๑ สัปดาห์แล้ว ทั้งที่ไม่ได้ไปยกของอะไรหนักๆ มาแต่งานประจำที่ทำนั้นคือการนั่งโต๊ะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์วันละ ๘-๑๒ ชั่วโมง อาการปวดเมื่อยล้าหัวไหล่แก้ไขได้หรือไม่

 

ตอบ : นพ.ลิขิต รักษ์พลเมือง

การนั่งทำงานนานๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างต่อเนื่องนำมาซึ่งโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในวัยทำงาน

โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือ myofascial pain syndrome มักเป็นสาเหตุของตำแหน่งกดเจ็บ หรือ Trigger Point ซึ่งเป็นจุดที่เรากดลงไปแล้วรู้สึกปวด เหมือนมีก้อนเข็งๆเล็กๆ ใต้ผิวหนัง ซึ่งเกิดหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่สะสมต่อเนื่องกันนานจนเกิดเป็นก้อนเล็กขนาด ๐.๕-๑ เซนติเมตร

Trigger Point จำนวนมากหรือจุดกดเจ็บจำนวนมากที่ซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อ ต้นเหตุอย่างหนึ่งคือ การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ รวมทั้งออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ เกิดการคั่งของเสียในบริเวณนั้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งและเกร็ง มีอาการปวดลามไปยังบริเวณใกล้เคียงจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังตามมา

ส่วนใหญ่จะเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนบน ตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ สะบักหลัง อาการปวดร้าวลึกของกล้ามเนื้ออาจจะปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลานั่งทำงาน บางคนอาจเป็นหนักจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้ หรือบางคนอาจลามไปปวดถึงศีรษะ กระตุ้นการเกิดไมเกรน ทำให้นอนไม่หลับมีอาการชาตามมือและแขน ทำให้เกิดปัญหาโครงสร้างและการใช้งานของร่างกาย เช่น ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน หลังงอ หรือมีปัญหาการเดินและทรงตัว

การรักษาจะใช้การบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น ฝึกยืดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวบน ต้นแขนและคอ นวด ทายาคลายกล้ามเนื้อหรือกินยา รวมทั้งประคบด้วยความร้อน การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว

ผลการรักษาจะทำให้รู้สึกดีขึ้นลดความเจ็บปวดได้ แต่ควรระวังสิ่งที่ทำให้เกิดโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังได้แก่ การนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมการทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อท่าเดียวกันซ้ำๆ เป็นเวลานาน กล้ามเนื้อขาดการพักผ่อน รวมถึงไม่ได้รับการบริหารกล้ามเนื้อ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องหลีกเลี่ยง

การหมั่นดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ทันท่วงที เช่น ถ้ากล้ามเนื้อคอเกิดความตึงเครียดระหว่างนั่งปฏิบัติงาน รวมถึงการหลีกเลี่ยงอยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ

วิธีบริหารง่าย ๆ มีดังนี้

ท่าที่ ๑ หันศีรษะไปทางด้านซ้าย ช้าๆ จนตึง และนับ ๑-๑๐ (ทำสลับด้านขวาด้วย)

ท่าที่ ๒ ก้มศีรษะ พยายามให้คางชิดอกมากที่สุด และนับ ๑-๑๐

ท่าที่ ๓ เงยหน้าขึ้นช้าๆ ไปทางด้านหลังให้มากที่สุด และนับ ๑-๑๐