• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอสแอลอี

ถาม : เกรซ/กรุงเทพฯ
ดิฉันมีอาการปวดข้อและมีผื่นแดงที่ใบหน้า เพื่อนที่ทำงานบอกว่าเคยดูข่าวอาการป่วยของพุ่มพวง ดวงจันทร์ กลัวว่าดิฉันจะเป็นจะเป็นเอสแอลอี ขอถามว่าเอสแอลอีมีอาการอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นหรือไม่

ตอบ : นพ.สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์
        การที่จะรู้ว่าตัวเองเป็นเอสแอลอีหรือไม่ จะต้องตรวจร่างกายว่ามีอาการแสดงทางร่างกายอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นขออธิบายให้รู้จักเอสแอลอีเบื้องต้นก่อน และคุณควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายจะได้ชัดเจนมากขึ้น
        เอสแอลอี มาจากภาษาอังกฤษว่า systemic lupus erythematosus เรียกย่อๆ ว่า SLE หรือโรคลูปัส
        เอสแอลอี เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน จัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูน (autoimmune disease) มีการสร้างแอนติบอดีหลายชนิด ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ได้
         การเกิดโรคเอสแอลอีเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และฮอร์โมนของร่างกาย เมื่อได้รับการกระตุ้นจากเชื้อโรค แสงแดด หรือยา ความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่น้อยๆ รักษาได้ง่าย จนรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต
         อาการที่พบมีหลายอย่าง เช่น อาการไข้ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ปวดข้อ ข้ออักเสบ ผื่นแดงที่ใบหน้า บริเวณโหนกแก้มและสันจมูก ลักษณะคล้ายผีเสื้อ ผมร่วง แพ้แสงแดด เป็นแผลที่เพดานปาก หลอดเลือดอักเสบ มีการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ
         อาการแสดงในระบบเลือด เช่น ซีดจากโรคเรื้อรัง เม็ดเลือดแดงแตก เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
         อาการแสดงในระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ชัก ซึม
         อาการในระบบไต เช่น อาการบวม ปัสสาวะเป็นฟอง มีโปรตีนในปัสสาวะ มีเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ
         การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มลดการอักเสบ และกดภูมิคุ้มกัน มีการปรับขนาดของยาตามอาการและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
         ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาใดที่ทำให้หายขาดได้ แต่การปฏิบัติตัวที่ดี การเลือกใช้ยาที่ถูกต้อง ทั้งชนิด ขนาด และช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสามารถควบคุมอาการของโรคนี้ได้ ผู้ป่วยต้องกินยาและตรวจสม่ำเสมอ จะทำให้โรคสงบและมีชีวิตเหมือนคนปกติ
         ขอเน้นว่า ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเป็นระยะๆ และกินยาเพื่อควบคุมไม่ให้โรคกำเริบ
         นอกจากนี้ เมื่อป่วยเป็นโรคเอสแอลอี ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนอื่น และควรกลับไปพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการผิดปกติ หากจะไปพบแพทย์ท่านอื่น ควรนำยาที่กำลังกินอยู่ไปด้วยทุกครั้ง ที่สำคัญต้องกินยาตามขนาดและเวลาที่กำหนด ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง