• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปลูกถ่ายตับอ่อน

ถาม : อิสรา/เชียงใหม่
ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมการปลูกถ่ายตับอ่อนเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน จากคอลัมน์ “เก็บ (ข่าว) มาฝาก” หมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๓๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔
 

ตอบ : นพ.สมชาย ลิ้มศรีจำเริญ

การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อนเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน หรือที่เรียกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ ๑ เป็นผลมาจากการทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ผู้ป่วยต้องฉีดอินซูลินวันละหลายครั้งทุกวัน

ดังนั้น การปลูกถ่ายตับอ่อนจึงเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนไตร่วมด้วย

สำหรับผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อนเป็นผลสำเร็จนี้ เกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลินใต้ผิวหนังทุกวันๆ ละ ๒-๔ ครั้ง และป่วยเป็นไตวายเรื้อรังจากเบาหวาน ต้องได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ ๒ ครั้งมาโดยตลอด ต่อมาได้รับการปลูกถ่ายไต ซึ่งไตที่ได้รับการปลูกถ่ายยังคงทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยยังต้องฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน

จากการประเมินอาการและสภาพของผู้ป่วยโดยรวม จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาโรคเบาหวานด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งมีผู้บริจาคให้ โดยผ่าตัดนำอวัยวะออกจากผู้บริจาค แล้วนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยปลูกถ่ายตับอ่อนบริเวณอุ้งเชิงกรานด้านซ้าย ต่อหลอดเลือดเข้ากับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา และต่อท่อตับอ่อนเข้ากับลำไส้เล็ก ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ ๓ ชั่วโมง

หลังการปลูกถ่ายตับอ่อนและพักฟื้นที่หอผู้ป่วยเพื่อปรับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นเวลา ๑๘ วัน โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ และยังพบว่าตับอ่อนที่ปลูกถ่ายทำงานได้ดี สามารถผลิตอินซูลินได้ภายหลังการผ่าตัดเพียง ๑ วัน ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติโดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน และไม่ต้องกินยาลดระดับน้ำตาลในเลือดทุกชนิด การปลูกถ่ายตับอ่อน เป็นความสำเร็จที่ยกระดับความก้าวหน้าทางการรักษาให้กับผู้ป่วยเบาหวานได้สำเร็จ