• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งไต

ถาม : ทักษิณา/ลพบุรี
ดิฉันขอเรียนถามว่า ไตของคนเรามีโอกาสเป็นมะเร็งด้วยหรือคะ
 

ตอบ : นพ.วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต

ถ้าพูดถึงมะเร็ง คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น แต่ปัจจุบัน โรคมะเร็งไต (renal cell carcinoma) ได้เกิดขึ้นกับคนไทย แม้ว่าจะเป็นกันไม่มากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ก็ไม่ควรละเลยกัน

ทั่วโลกมีผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งไต ๔.๗๕ รายต่อประชากรแสนคน และผู้หญิง ๒.๕ รายต่อประชากรแสนคน

ขณะที่ในประเทศไทยมีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งไต ๑.๖ รายต่อประชากรแสนคน ผู้หญิง ๐.๘ รายต่อประชากรแสนคน
พบว่าผู้ป่วยมะเร็งไตอยู่ในกลุ่มอายุ ๕๐-๗๐ ปี ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาตรวจรักษาด้วยโรคอื่น และบังเอิญมาตรวจพบมะเร็งไต

สำหรับอาการที่เกิดจากมะเร็งไตพบได้หลายอย่าง เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดที่เอว คลำเจอก้อนที่บริเวณเอว ซีด ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยอาการปัสสาวะเป็นเลือด อาจเกิดจากภาวะอื่น (เช่น นิ่วในไตหรือมะเร็งที่ท่อไตได้)

อาการของมะเร็งไตแบ่งได้เป็น ๔ ระยะคือ

ระยะที่ ๑ มีขนาดก้อนน้อยกว่า ๗ เซนติเมตร อยู่เฉพาะในไต ไม่ลุกลามไปส่วนอื่น
ระยะที่ ๒ ก้อนมีขนาดมากกว่า ๗ เซนติเมตร ยังอยู่เฉพาะในไต
ระยะที่ ๓ มีการลุกลามไปที่หลอดเลือดดำ หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
ระยะที่ ๔ มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง ได้แก่ ต่อมหมวกไต หรือแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น (เช่น ปอด ตับ กระดูก)

แนวทางการรักษามะเร็งไต ได้แก่
๑.    การผ่าตัด ถือได้ว่าเป็นการรักษาหลักวิธีเดียวที่ทำให้หายขาดได้สำหรับมะเร็งไตระยะที่ ๑-๓
๒.    การฉายรังสี เป็นการบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถทำให้หายขาดได้
๓.    การใช้ยาเคมีบำบัด ใช้เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่นแล้ว
๔.    การให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน กรณีที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นแล้วเท่านั้น
๕.    การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงมุ่งเป้าการรักษา กรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น โดยใช้ยาซึ่งมี ๒ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง มีทั้งยากิน ยาฉีด

กลุ่มที่ ๒ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ไปยับยั้งกลไกภายในเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมะเร็ง

ผลการรักษามะเร็งไตจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค เช่น ระยะที่ ๑ จะมีอัตราการอยู่รอดที่  ๕ ปีถึงร้อยละ ๙๕ แต่จะลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๒๐ ในระยะที่ ๔ ซึ่งจะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งไตมาจากการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลัก โรคอ้วนก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่เกิดมะเร็งไตได้ หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีบางอย่าง เช่น แร่ใยหิน แคดเมียม รวมถึงในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งไตหลายคนก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน

ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกติ หรือมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าอาจจะมีความผิดปกติที่ไต ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะการรักษาระยะเริ่มต้นสามารถหายขาดได้