• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

ถาม : อนุสรา/กรุงเทพฯ
สามีอายุ ๖๒ ปี ตรวจเจอโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง จึงอยากรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นค่ะเพื่อจะได้ดูแลสามีอย่างถูกวิธี

ตอบ : นพ.วรวงศ์ ศลิษฏ์อรรถกร
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ และอาจพบในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายระบบ  เช่น กลุ่มอาการ Marfan ซึ่งมักมีความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่วัยหนุ่มสาว จะสังเกตได้ว่าคนกลุ่มนี้มีรูปร่างสูงผอม แขนขาและนิ้วยาว เพดานปากสูง สายตาผิดปกติและอาจมีโรคลิ้นหัวใจรั่วร่วมด้วย

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง พบได้ทั้งในทรวงอกหรือช่องท้อง ถ้าเป็นในทรวงอก อาจมีหรือไม่มีอาการ อาการที่พบคือ แน่นหน้าอก ปวดหลัง หน้ามืดหมดสติหรือไอเป็นเลือด ซึ่งเกิดจากการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ บางครั้งมีอาการจากการกดเบียดของหลอดเลือดต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กดหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก กดเบียดหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก กดเบียดเส้นประสาทที่เลี้ยงกล่องเสียงทำให้เสียงแหบ เป็นต้น ถ้าเป็นในช่องท้องอาจคลำพบก้อนเต้นได้ในช่องท้อง หรือมีอาการปวดหลังร่วมด้วย

จะรู้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือไม่นั้น แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติ ตรวจอาการ เอกซเรย์ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

สำหรับการรักษาจะเริ่มตั้งแต่การควบคุมความดันโลหิตและปัจจัยเสี่ยง การตรวจติดตามเฝ้าระวังเป็นระยะๆ รวมถึงการผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ขนาดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โตจนเสี่ยงต่อการปริแตก หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โตเร็วผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาและประเมินเพื่อให้ผู้ป่วยได้ทราบ และร่วมกันวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในผู้สูงอายุนั้น เริ่มตั้งแต่การหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ รักษาโรคความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง งดสูบบุหรี่ ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เพื่อจะได้ห่างไกลจากโรค