• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หนังสือแสดงเจตนา วาระสุดท้ายของชีวิต

ถาม :จักรพล/สมุทรสาคร

ปัจจุบันผมเห็นสื่อต่างๆ กล่าวถึง หนังสือแสดงเจตนา วาระสุดท้ายของชีวิต แท้จริงแล้วมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างไร และผู้ป่วยลักษณะแบบใดที่เหมาะสมจะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ

ตอบ : นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ

ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต จะช่วยให้ญาติ ครอบครัวและแพทย์ ทราบเจตนาของผู้ป่วยตามที่ระบุไว้ในหนังสือฯ

การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาของผู้ป่วยนี้ ผู้ป่วยสามารถระบุการรักษาบางอย่างที่ไม่ต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตไว้ล่วงหน้า ก่อนที่ตนเองจะไม่รู้สึกตัว หรือไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ รวมทั้งความต้องการที่จะเสียชีวิตที่บ้าน หรือต้องการอยู่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัว โดยที่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล เพื่อช่วยบรรเทาความทรมานทางกายที่เกิดจากการเจ็บป่วยต่างๆ

การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ล่วงหน้า ยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทรมานจากการรักษาบางอย่างที่อาจไม่เกิดประโยชน์ เช่น การปั๊มหัวใจหรือการใส่เครื่องช่วยหายใจในวาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากนั้น การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ยังเป็นการลดความขัดแย้งของญาติเกี่ยวกับวิธีการรักษาผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ทุกคนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ในขณะที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ก็ได้ แต่ผู้ที่เหมาะสมคือ กลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึ่งอาจคุกคามต่อชีวิต ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าแพทย์ พยาบาล จะละทิ้งไม่ใส่ใจต่อผู้ป่วย ตรงกันข้าม แพทย์ยังคงมีหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยมาถึง

โดยการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งเปิดโอกาสให้ญาติและผู้ป่วยได้ร่วมกันดูแลชีวิตและจิตใจซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสม

การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข รวมถึงการบำบัดรักษาแบบประคับประคอง ถือเป็นการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยและใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถระบุได้ด้วยว่าต้องการให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจแทนตนเองในวาระสุดท้ายของชีวิต จึงควรที่จะให้ญาติได้รับรู้เจตนาของผู้ป่วยด้วย เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามความประสงค์ของผู้ป่วย