• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เข้าเฝือกดามกระดูกและข้อ

ถาม : เจนสุดา/ชลบุรี

ดิฉันเคยเเขนหักต้องเข้าเฝือก แล้วเห็นว่าอุปกรณ์ชนิดนี้มีประสิทธิภาพมาก จึงอยากทราบรายละเอียดของ "เฝือก" ในหลายๆ ด้านค่ะ

ตอบ : นพ.บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์

การเข้าเฝือกก็เพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่งๆ ทั้งลดอาการปวดบวม อักเสบของอวัยวะนั้นให้หายเป็นปกติโดยเร็ว หรือแก้ไขความผิดรูปของอวัยวะ เช่น เท้าปุกให้กลับมามีรูปทรงที่ปกติ และทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป และยังใช้ป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อ ปัจจุบันมีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ทำเฝือก เช่น ปูนพลาสเตอร์ และสารสังเคราะห์หรือเฝือกพลาสติก สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับอวัยวะส่วนต่างๆ

การเข้าเฝือกให้ได้ผลดีนั้น เฝือกต้องมีความกระชับและไม่หลวม หรือแน่นคับจนเกินไป มีความยาวที่คลุมข้อที่อยู่เหนือและต่ำลงไปกว่าอวัยวะทึ่ต้องการให้อยู่นิ่งๆ มิให้มีการเคลื่อนไหวได้ มีความแข็งแรง ไม่บุบสลาย ไม่อ่อนนิ่ม และไม่หักง่าย

ภาวะแทรกซ้อนสำหรับการเข้าเฝือกที่พบคือ

เฝือกหลวม เนื่องจากอวัยวะภายในเฝือกยุบบวมลงหรือเข้าเฝือกไม่กระชับ

เฝือกคับ จากการบวมที่เกิดหลังการเข้าเฝือกหรือเข้าเฝือกแน่นเกินไป

การเข้าเฝือกนานเกินไป ทำให้ข้อยึดติด

การถอดเฝือกออกเร็วเกินไป โดยที่กระดูกยังไม่ติดกันดี ทำให้การเคลือนหลุดของปลายกระดูกที่หักเกิดผิดรูป ติดช้าหรือไม่ติด

โดยทั่วไปแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจประมาณ ๑-๒ วันแรก เพื่อดูว่าเฝือกที่ใส่รัดแน่นเกินไปหรือไม่ซึ่งอาจทำให้กดหลอดเลือดและเส้นประสาทได้ หลังจากนั้นจะนัดมาตรวจอีกครั้งประมาณ ๑-๒ สัปดาห์หลังใส่เฝือก เพื่อดูว่าเฝื่อทที่ใส่ให้หลวมหรือไม่ บางรายอาจต้องเอกซเรย์และเปลี่ยนเฝือกใหม่ ถ้าเฝือกแน่นและแข็งแรงดีอยู่ แพทย์ก็จะนัดทุก ๑-๒ เดือน เพื่อเอกซเรย์กระดูกจนกว่ากระดูกจะติด จึงจะนำเฝือกออก กระดูกที่หักจะติดสนิทต้องใช้เวลาประมาณ ๔-๖ เดือน จึงควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ มิฉะนั้นกระดูก ที่เริ่มติดก็อาจจะหักซ้ำ ทำให้ต้องมาเริ่มต้นรักษากันใหม่ ผู้ที่ใส่เฝือกควรยกส่วนที่เข้่าเฝือกให้อยู่เหนือระดับหัวใจเพื่อให้เกิดการไหลเวียนที่ดี เวลานั่งหรือนอนให้ใช้หมอนหนุน และให้ใช้ผ้าคล้องคอสำหรับผู้ที่ใส่เฝือกแขวน