• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งตับ

มะเร็งตับ

ถาม : เยาวภา/เชียงใหม่
ดิฉันต้องการทราบเรื่องมะเร็งตับนะคะ เพราะสงสัยว่าสามีจะเป็นมะเร็งตับ

๑. มะเร็งตับมีกี่ชนิด

๒. รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรดูแลอย่างไร และหมอจะทำอะไรให้บ้าง
 

ตอบ : พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ
มะเร็งตับแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดใหญ่ๆ คือ

๑. ชนิดแรกคือ มะเร็งตับปฐมภูมิ คือเกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ในเนื้อตับจริงๆ ซึ่งในกลุ่มนี้เองมีสองชนิดใหญ่ๆ คือ hepatocellular carcinoma หรือ hepatoma และอีกชนิดคือมะเร็งของเซลล์ท่อทางเดินน้ำดี ที่เรียกว่า cholangiocarcinoma ชนิดใหญ่

๒. ชนิดที่สองคือ มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากอวัยวะอื่นก่อนแล้วค่อยแพร่กระจายเข้าไปในตับ ซึ่งโดยมากก็จะเป็นจากลำไส้ ปอด เต้านม เป็นต้น

มะเร็ง ๒ ชนิดนี้วิธีการรักษาจะค่อนข้างต่างกัน เพราะความไวของเซลล์ต่อยาต่างกัน แต่โดยมากถ้าหมอบอกว่าเป็นมะเร็งตับ ส่วนใหญ่จะหมายถึงชนิดแรกคือ เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดในตับโดยตรงไม่ว่าจะเป็น hepatoma หรือ cholangiocarcinoma สามารถที่จะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จริงก็ถือว่าเป็นระยะที่ ๔ หรือระยะสุดท้าย มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดไม่ว่าจะเป็น hepatoma หรือ cholangiocarcinoma เมื่อถึงระยะนี้แล้วโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้นั้นยากมาก แทบเรียกได้ว่าไม่ค่อยจะมีแต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วขึ้นอยู่กับว่าขณะนี้รอยโรคในตับรุนแรงมากน้อยขนาดไหนมากกว่า ถ้าผู้ป่วยจะเสียชีวิตก็มักจะเกิดจากภาวะตับวาย คือ มีรอยโรคในตับที่มากจนตับที่เหลืออยู่น้อยมากจนทำงานไม่ไหวนั่นแหละ มักจะไม่ได้เสียชีวิตจากรอยโรคที่อื่น

วิธีการรักษามะเร็งตับระยะสุดท้ายมีจุดมุ่งหมายเพื่อประคับประคองเท่านั้น เป็นการลดความเจ็บปวดทรมานและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

๑. การควบคุมจำเพาะ เพราะบางทีถ้าก้อนโตมากในตับ จะก่อปัญหาเรื่องปวดแน่นท้อง ถ้ารอยโรคมีก้อนใดก้อนหนึ่งหรืออยู่ค่อนข้างจำเพาะ ไม่ได้กระจายไปทั้งสองกลีบของตับ และไม่ลุกลามหลอดเลือดในตับ แพทย์อาจจะมีวิธีการรักษาเรียกว่า embolization คือทำการเอา gel foam ไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกนั้น ก็จะทำให้เซลล์ตายไปบางส่วน ก้อนยุบลงได้ อาการดีขึ้นได้บ้าง บางคนใช้วิธีนี้ควบคุมรอยโรคได้นานพอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกคน ขึ้นอยู่กับรอยโรคด้วย

๒. ถ้ามีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว วิธีการรักษาที่สามารถจะไปถึงยังรอยโรคทุกที่ได้คือการใช้ยาเคมีบำบัด แต่โชคไม่ดีที่มะเร็งตับไม่ว่าจะเป็น hepatoma หรือ cholangiocarcinoma นั้นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาเคมี มียาหลายชนิดที่มีรายงานว่าได้ถูกนำมาใช้ แต่อัตราการตอบสนองให้ก้อนยุบลงนั้นไม่เกินร้อยละ ๒๐

การรักษาด้วยยาไม่ใช่วิธีที่จะรักษาให้หายขาด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

หนึ่ง ผู้ป่วยมีสุขภาพพอจะรับยาไหวไหม

สอง ผู้ป่วยมีความเต็มใจ หรือสมัครใจที่จะลองรับการรักษาหรือไม่

สาม มีปัญหาเรื่องค่ายาในการรักษาหรือไม่ ไม่มียาสูตรไหนที่เป็นมาตรฐาน

โดยมากแพทย์จะพยายามเลือกใช้ยาที่จะมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เพราะจุดประสงค์หลักคือเพื่อประคับประคองชีวิตอยู่แล้ว

๓. นอกนั้นก็เป็นการรักษาบรรเทาอาการ ลดความเจ็บปวด