• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา

ถาม :   ปิยพร/กรุงเทพฯ

อยากทราบข้อมูลเบื้องต้นของโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาค่ะ

ตอบ : พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์

โดยปกติถ้าพูดถึงกล้ามเนื้อหัวใจหนา หมายถึง การหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่าง ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายและสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าร้อยละ ๙๐ เกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นมานานแล้วแต่ไม่รักษาแต่ควบคุมระดับความดันได้ไม่ดี

โรคความดันโลหิตสูงทำให้ความดันในหลอดเลือดแดง สูงขึ้นกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายพองโตและภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ หากจะมีอาการก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ เช่นหากเกิดจากโรคความดันโลหิตสูงอาจพบว่ามีอาการปวดศรีษะ มึนงง เวียนศรีษะ และเหนื่อยง่ายผิดปกติ หรืออาจมีอาการแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโดยซักถามประวัติอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยละเอียด

สำหรับการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา จะเป็นการรักษาตามสาเหตุของโรค เช่นถ้าเกิดภาวะความดันโลหิตสูง จะรักษาด้วยการควบคุมอาหารเค็ม ร่วมกับการใช้ยาลดความดันโลหิต การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา อาจไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาลดลงเป็นปกติ แต่เป็นการป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นสัญญาณเตือนไว้ว่าวันข้างหน้า จะทำให้หัวใจโตและการทำงานของหัวใจล้มเหลว เข้าสุโรคหัวใจระยะสุดท้ายและมีโอกาสเสียชีวิตได้

ดังนั้น จึงควรลดปัจจัยเสียงงดสูบบุหรี่ เพื่อรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยปกติจังหวะการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ ๖๐-๘๐ ครั้งต่อนาที ค่าที่ได้จาการวัดความดันประกอบด้วย เลขตัวบนและเลขตัวล่าง ความดันปกติของคนเราจะอยู่ที่ ๑๒๐/๘๐ มิลลิเมตรปรอท ไม่เกิน ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท หากสูงกว่านี้จะเป็นความดันโลหิตสูง