• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปลาปักเป้ามีพิษ

ปลาปักเป้ามีพิษ


ถาม : วัฒนา/ชลบุรี
ผมได้ดูข่าวทางโทรทัศน์ มีการจับปลาปักเป้า จำนวนมากส่งขายตามร้านอาหาร ปลาปักเป้ามีประโยชน์และโทษต่อร่างกายอย่างไร
 

ตอบ : นพ.ศุภชัย รัตนมณีฉัตร
ปลาปักเป้า (puffer fish) เป็นปลาชนิดหนึ่งที่พบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม พบได้ทั่วไปทั้งในประเทศที่มีอากาศร้อนและอบอุ่น ในประเทศไทยมีปลาปักเป้าน้ำจืด เช่น ปลาปักเป้าเขียว ปลาปักเป้าเหลือง ปลาปักเป้าทอง พบได้ตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น หนอง คลอง บึง และตามแม่น้ำสายต่างๆ ส่วนปลาปักเป้าหนามทุเรียน  ปลาปักเป้าหลังแดง ปลาปักเป้าหลังแก้ว ปลาปักเป้าดาว คือปลาปักเป้าทะเล  พบได้ในทะเลอ่าวไทย ปลาปักเป้ามีสภาพเหมือนปลาทั่วไป คือ หนามสั้นหรือยาวแล้วแต่ชนิด หากถูกรบกวนจะพองตัวโตขึ้น รูปร่างคล้ายลูกโป่ง หรือลูกบอลลูน หรือคล้ายผลทุเรียนลูกกลมๆ มีหนามแหลมๆ สั้นหรือยาวได้อย่างชัดเจน มีการแบ่งปลาปักเป้าไว้ ๒ วงศ์ ได้แก่ Tetraodontidae  (มีฟัน ๔ ซี่ มีผิวตัวค่อนข้างเกลี้ยง) และ Diodontidae (มีฟัน ๒ ซี่ คล้ายจะงอยปากนกแก้ว และมีหนามรอบตัว เห็นได้ชัดเจนกว่าชนิดแรก) ในประเทศไทยมีปลาปักเป้าทั้งชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็มรวมกันประมาณ ๒๐ ชนิด

ปลาปักเป้าทะเลเป็นที่รู้จักดีและคุ้นเคยของชาวประมง ถ้าพบเห็นบนเรือลากอวน เขามักจะทำลายมันทิ้งหรือโยนมันกลับลงไปในทะเล ในประเทศญี่ปุ่นเรียกปลาปักเป้าว่า "fugu" เนื้อปลาปักเป้าสดตามภัตตาคารใหญ่ๆ มีราคาสูงมากเนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมกินกันมาก เนื้อปลาปักเป้าสดที่จำหน่ายจะต้องเตรียมโดยผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะเป็นอย่างดี เพื่อลดอันตรายจากพิษของปลาให้มากที่สุด แม้กระนั้น ในช่วง ๒๐ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๑๘ มีคนกินเนื้อปลาปักเป้าเป็นพิษรวม ๓,๐๐๐ ราย (เสียชีวิตถึงร้อยละ ๕๑) เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เนื้อปลาปักเป้าเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นก็คือรสชาติที่หวาน กรุบ และอร่อยดี สำหรับประเทศไทย มีคนได้รับพิษจากการกินปลาปักเป้าทั้งชนิดน้ำจืด และชนิดน้ำเค็ม โดยเฉพาะในภาคอีสาน ชาวบ้านจะนำปลาปักเป้าที่จับได้จากหนองน้ำ ลำธาร มาต้มหรือย่าง และแบ่งกินร่วมกัน

ความเป็นพิษ พิษปลาปักเป้าขนาดที่ทำให้คนเสียชีวิต คือประมาณ ๒ มิลลิกรัม ปลาปักเป้าทะเลมีพิษมากที่สุดในส่วนของไข่ ตับ ลำไส้ หนัง ส่วนที่เป็นเนื้อปลาจะมีพิษน้อยมากหรือไม่มีเลย พิษจะมากในช่วงฤดูปลาวางไข่ ส่วนปลาปักเป้าน้ำจืด ปลาแต่ละตัวจะมีพิษแตกต่างกันมาก พิษจะมีมากที่สุดในหนังปลา รองลงมาเป็นไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ ตามลำดับ ปลาปักเป้าน้ำจืดที่ชาวอีสานบริโภคเป็นประจำ คือ Tetraodon fangi  และ Tetraodon palembangensis ชนิดหลังนี้ ลักษณะตามลำตัวจะเห็นเป็นลายเส้นสีดำคล้ายตาข่ายอยู่ทั่วลำตัวและหัว พิษ  tetrodotoxin นี้มีความคงทนต่อความร้อนได้เป็นอย่างดี ขนาดความร้อนที่อุณหภูมิ ๑๗๐ องศาเซลเซียส ต้มนาน ๑๐ นาที พิษก็ยังคงสภาพดีอยู่เหมือนเดิม

ลักษณะอาการของคนที่ได้รับพิษ อาการพิษจะเกิดขึ้นหลังจากกินปลาปักเป้าประมาณ ๑๐-๔๕ นาที บางราย อาจนานถึง ๔ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป อาการเป็นพิษอาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ระยะ

ระยะที่ ๑ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน

ระยะที่ ๒ มีอาการชามากขึ้น อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรงจนเดินหรือยืนไม่ได้

ระยะที่ ๓ มีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายกับชัก มีอาการพูดลำบาก ตะกุกตะกักจนพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่อง เสียงเป็นอัมพาต ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี

ระยะที่ ๔ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยายโตเต็มที่ ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหัวใจจะหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ tetrodotoxin เข้าไปไม่มาก จะมีอาการเพียงระยะที่ ๑ หรือระยะที่ ๒ ในรายที่ได้รับพิษจำนวนมากจะมีอาการรุนแรงภายใน ๑๕ นาทีแรกและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ จำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง จนกระทั่งพิษจะถูกขับออกจากร่างกายทางไต จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

การป้องกัน ไม่กินปลาปักเป้าทุกชนิด