ดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก
ถาม : พจมาน/เชียงใหม่
ดิฉันมีน้องสาว ๑ คน มีอาการของโรคลมชัก ขณะนี้มาพักอยู่ที่บ้าน แต่ไม่รู้ว่าอาการจะกำเริบเมื่อไหร่
ต้องการทราบว่า เมื่ออาการกำเริบ คนรอบข้างควรจะดูแลกันอย่างไร
ตอบ : นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา
เมื่อผู้ป่วยโรคลมชัก เกิดอาการชักขึ้นมา ไม่มีวิธีใดที่จะสามารถหยุดอาการชักได้ แม้แต่ยากันชักที่ผู้ป่วยกำลังกินอยู่ จึงจำต้องปล่อยให้อาการชักดำเนินต่อไปจนจบระยะของมันเอง
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยขณะชัก จึงเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้เกิดจากบาดเจ็บระหว่างชักเท่านั้น และเมื่อผู้ป่วยหายชักแล้ว อาจจะพูดจาปลอบโยนหรือบอกให้ผู้ป่วยทราบว่ามีอาการชัก จะทำให้ผู้ป่วยหายสับสนเร็วขึ้น
หากผู้ป่วยมีอาการชักติดต่อกันหลายๆ ครั้ง โดยไม่ฟื้น หรือชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวนานเกิน ๑๕ นาที ควรปรึกษาแพทย์หรือนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
การปฐมพยาบาล
๑. ไม่งัดหรือใส่ของแข็งเข้าไปในปาก
การพยายามที่จะงัดขากรรไกรที่เกร็งแน่น และใส่ของแข็งเข้าไประหว่างฟันขณะชัก อาจจะทำให้ช่องปากผู้ป่วยบาดเจ็บ ควรใช้ผ้าหรือของนุ่มๆให้ผู้ป่วยกัดจะดีกว่า
๒. ป้องกันการบาดเจ็บ
พยายามป้องกันการกระแทกจากการล้ม จับให้ผู้ป่วยนอนลงในท่าตะแคงตัว เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง การเปลี่ยนท่าผู้ป่วยควรทำโดยการผลักลำตัว มิใช่การดึงแขนเพราะอาจทำให้ไหล่หลุดได้ ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก คลายเสื้อผ้าให้หลวม ให้ผู้ป่วยหนุนหมอนหรือสิ่งของนุ่มๆ เคลื่อนย้ายข้าวของที่อยู่รอบบริเวณผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันปลอมออกถ้าทำได้
๓. ไม่ควรผูกมัดหรือต่อสู้กับคนไข้
อาการชักเมื่อเกิดขึ้นจะหยุดไปได้เอง การผูกมัดหรือขัดขวางอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บ
๔. ไม่ควรละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปตามผู้อื่น
ควรอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยอุ่นใจเมื่อฟื้นขึ้นมา
๕. ช่วยเหลือการหายใจ
ถ้าผู้ป่วยนอนหงาย หลังหยุดชักควรให้ผู้ป่วยนอนตะแคง จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งปกติ เพราะขณะที่ชักลิ้นอาจจะตกไปปิดช่องทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังช่วยให้น้ำลายที่ค้างในกระพุ้งแก้มไหลออกมาได้
๖. ไม่ควรให้ผู้ป่วยกินระหว่างการชักหรือหลังชักใหม่ๆ
เนื่องจากการกินอาจทำให้สำลักได้
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคลมชัก
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นลมชัก
๑. ผู้ที่เคยชัก (รวมทั้งผู้เห็นเหตุการณ์) ควรพยายามสังเกตและจดจำลักษณะของลมชักไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตรวจและรักษา
๒. ควรหลีกเลี่ยงการงานที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะเมื่อยังควบคุมอาการชักไม่ได้ดี เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลที่สูง ใกล้น้ำ บนผิวจราจร เตาไฟ หรือของร้อน เป็นต้น
๓. พึงระวังและหลีกเลี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการชัก ได้แก่
- การอดนอน
- อารมณ์เครียด
- ตรากตรำการงาน
- ออกกำลังจนเหนื่อยอ่อนอย่างมาก
- การดื่มเหล้า
- ที่สำคัญที่สุด คือการกินยากันชักไม่สม่ำเสมอ
๔. ปฏิบัติตัวและกินยา ตามคำแนะนำของแพทย์
- ไม่หยุดยา เปลี่ยนแปลงขนาดยา หรือซื้อยากินเอง
- ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ เพราะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง
- ควรบันทึกหรือทำปฏิทิน การกินยา และการนัดพบแพทย์เพื่อกันลืม
- ถ้าลืมกินยาไปเพียงมื้อเดียวหรือวันเดียว ให้เริ่มกินมื้อต่อไปตามปกติ
- ไม่ควรกินยาขนานอื่นๆ ร่วมกับยากันชักโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของยา ทั้งในด้านหักล้างทำให้คุมชักไม่ได้ หรือเสริมฤทธิ์กัน จนเกิดเป็นพิษขึ้นได้
- ถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ที่สงสัยว่าจะแพ้ยา ควรกลับมาพบแพทย์ผู้รักษา อย่าตัดสินใจเอง
- ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
๕. แม้ว่าจะคุมอาการชักได้ดีแล้ว ห้ามหยุดเอง ก่อนเวลาที่แพทย์จะสั่ง เพราะโรคอาจยังไม่หาย และอาจชักอีกได้
๖. เมื่อตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่นควรแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาถึงโรคที่เป็น และยาที่กินอยู่
๗. ยอมรับความเจ็บป่วยของตน และศึกษาหาความรู้ เพื่อความเข้าใจและการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง รวมทั้งทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ
- อ่าน 19,562 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้