• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจาะถุงน้ำคร่ำ อันตราย?

เจาะถุงน้ำคร่ำ อันตราย?

      
ถาม : สุรพงษ์/นครสวรรค์
ภรรยาอายุ ๓๖ ปี มีบุตรสาว ๑ คน อายุ ๔ ขวบ (คลอดก่อนกำหนด คือ ๗ เดือน)  
ขณะนี้ภรรยาตั้งครรภ์คนที่ ๒ อายุครรภ์ประมาณ ๑๖ สัปดาห์ โดยฝากครรภ์ที่คลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์ที่ดูแลครรภ์ถามว่าจะเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจสอบโครโมโซมหรือไม่ ขอปรึกษาดังนี้ 

๑. จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเจาะน้ำคร่ำตรวจ เพราะเป็นการตั้งครรภ์ที่ ๒ ด้วย

๒. โอกาสเจาะแล้วพลาดไปถูกตัวอ่อนมีหรือไม่

๓. ระหว่างความผิดปกติของเด็กกับความเสี่ยงจากการเจาะน้ำคร่ำ กรณีไหนสูงกว่ากัน

๔. หากเจาะน้ำคร่ำแล้ว มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดอีกหรือไม่ (มีประวัติมาแล้ว)

๕. ควรปฏิบัติตัวอย่างไร หลังเจาะน้ำคร่ำแล้ว
 

ตอบ : นพ.สิงห์เพ็ชร สุขสมปอง
ขอตอบคำถามดังต่อไปนี้

๑. กรณีภรรยาของคุณคงไม่จำเป็นต้องเจาะ
การเจาะน้ำคร่ำจะเจาะเนื่องจากอายุภรรยามากแล้ว โอกาสที่จะมีลูกปัญญาอ่อนมากขึ้นกว่าปกติ โอกาสที่เด็กเกิดมาปัญญาอ่อน กลุ่มอาการดาวน์ (down syndrome) คือ ๑ ต่อ ๒๘๗ หมายความว่าโอกาสได้ลูกปัญญาอ่อนชนิดนี้ ๑ คน ภรรยาจะต้องตั้งครรภ์ ๒๘๗ ครั้ง

๒. โอกาสที่จะเจาะแล้วถูกตัวเด็กนั้นน้อยมากเนื่องจากว่า การเจาะนั้นจะเจาะภายใต้การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง อัลตราซาวน์ดซึ่งจะมองเห็นตัวเด็กและเห็นน้ำคร่ำชัดเจน และการเจาะเข้าตัวเด็กนั้นไม่ใช่ง่ายๆ เนื่องจากเด็กลอยอยู่ในน้ำ

๓. โดยทั่วไปโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โอกาสที่จะแท้ง หรือโอกาสที่จะเจาะถูกตัวเด็กนั้นน้อยมาก แพทย์จะต้องแนะนำเรื่องการเจาะน้ำคร่ำให้คู่สมรสที่มารดาอายุมากกว่า ๓๕ ปี แต่จะเจาะหรือไม่ ต้องแล้วแต่คู่สมรสตัดสินใจเอง

๔.  โอกาสคลอดก่อนกำหนดจะมีมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว (เนื่องจากเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน) แต่การเจาะน้ำคร่ำไม่ทำให้โอกาสคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น

๕. หลังเจาะน้ำคร่ำแล้ว ควรปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ นั่นคือ นอนพักหลังตรวจประมาณ ๓๐-๖๐ นาที และจะแนะนำให้พักผ่อนต่อที่บ้านอีกประมาณ ๑ วัน  หลังจากนั้น จะดูตามอาการ ถ้ามีท้องแข็งหรือ มีอาการผิดปกติอื่นๆ ก็รักษาตามอาการ