• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีการดูแลและรักษาลูกที่เป็นโรคหอบ

วิธีการดูแลและรักษาลูกที่เป็นโรคหอบ


ถาม : มนิสา/สมุทรปราการ
ลูกสาวดิฉันอายุ ๑๐ ขวบ เมื่อตอนเด็กๆ เคยต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะมีอาการหอบ ช่วงหลังพอเริ่มโตอาการดีขึ้นค่ะ ดิฉันเริ่มให้ลูกหัดว่ายน้ำตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ และชวนกันจ๊อกกิ้งบ้าง แต่ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยว่างเลยออกกำลังกายน้อยลง ตอนนี้อาการหอบทุกครั้งที่เป็นหวัดหายไป แต่ยังมีอาการฟุดฟิดเหมือนมีน้ำมูกอยู่ในจมูกตลอดเวลา เหมือนเป็นหวัดทั้งปี บางทีก็เหมือนกับมีเสมหะด้วย (ที่บ้านปูพรม แต่ดิฉันก็ดูดฝุ่นทุกสัปดาห์ค่ะ) ดิฉันเคยพาไปพบคุณหมอ คุณหมอสวนจมูกให้อาการดีขึ้น ๒-๓ สัปดาห์ ตอนหลังคุณหมอบอกไม่ต้องมาแล้วไม่เป็นอะไร ดิฉันเลยไม่กล้าพาไปอีก เดี๋ยวนี้ลูกก็ยังมีอาการอยู่ คุณหมอพอจะแนะนำได้ไหมคะ ว่าควรจะดูแลรักษาลูกอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ต้องพาลูกกลับไปพบแพทย์อีก
 

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
จากประวัติที่เล่ามา ลูกสาวของคุณน่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคนี้มักถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (สืบดูอาจมีพ่อหรือแม่หรือญาติทางสายใดสายหนึ่งเป็นโรคหืด หวัดภูมิแพ้ หรือลมพิษ ผื่นคันบ่อยๆ) และจะมีอาการกำเริบเมื่อสัมผัสสิ่งที่แพ้เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ โชคดีที่อาการภูมิแพ้ของลูกคุณ ตอนโตขึ้นทุเลาไปมากแล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงหวัดภูมิแพ้ (ฟุดฟิดในจมูก) ถ้าหากไม่รำคาญมากก็ไม่ต้องกินยาแก้แพ้ แต่ถ้าเป็นมากควรกินยาแก้แพ้ ได้แก่ ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน ๒ มิลลิกรัม (ใช้ขนาด ๒ มิลลิกรัม ๑ เม็ด หรือขนาด ๔ มิลลิกรัม ๑ เม็ด) กินเวลามีอาการกำเริบหนัก ยานี้ใช้บรรเทาอาการแพ้ ให้กินเป็นครั้งคราวเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องกินตลอดทุกวัน สามารถกินซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง (ถ้ายังมีอาการมาก)

แต่ถ้าหากกินยานี้แล้วรู้สึกง่วงนอน มึนงง จนมีผลกระทบต่อการเรียนและกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง เช่น ลอราทาดีน (roratadine) กินวันละครั้ง ครั้งละ ๑ เม็ด ขอย้ำอีกทีว่า อย่ามัวแต่พึ่งแต่ยา หากอาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ทางที่ดีควรหาทางส่งเสริมให้ลูกออกกำลังกาย (เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง จ๊อกกิ้ง) ดังที่เคยทำ การออกกำลังกายจะทำให้ภูมิต้านทานร่างกายแข็งแรง ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้ ถือเป็นยาวิเศษในการรักษาโรคภูมิแพ้ แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ช่วงไหนหยุดทำอาการก็กลับมากำเริบได้อีก

ข้อควรปฏิบัติอีกข้อหนึ่ง ก็คือ ต้องสืบสาวดูว่าลูกคุณแพ้อะไร โดยทำการสังเกตอย่างใกล้ชิดว่า อาการมักจะกำเริบเวลามีการสัมผัสถูกอะไร แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย
ถ้าหากอยู่นอกบ้านปกติดี แต่เวลาเข้ามาในบ้านมีอาการฟุดฟิด ก็อาจเกิดจากการแพ้สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น ฝุ่นที่เกาะอยู่บนพรม (อย่าลืมพรมเป็นที่กักฝุ่น ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) หรือเศษพรมที่ฟุ้ง ถ้าสงสัยตรงนี้ก็ต้องขยันดูดฝุ่น (อาจต้องมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง) หรือไม่ก็ต้องรื้อพรมออกไปเสีย แต่ถ้ามีอาการนอกบ้านมากกว่า ในบ้านก็อาจแพ้ฝุ่นละออง หรือควันรถบนท้องถนน ในโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้บรรเทาเป็นครั้งคราวเวลาอาการกำเริบ

อย่างไรก็ตาม ต้องทำใจยอมรับว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว ซึ่งอาจมีอาการกำเริบอยู่เรื่อยๆ ถ้าหากเป็นไม่มากและสามารถดูแลตนเองดังกล่าวข้างต้น ก็ให้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อไป แต่ถ้าอาการกำเริบมากหรือต้องพึ่งยาแก้แพ้บ่อยขึ้น หรือกินยาแก้แพ้ดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ผลก็ต้องพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาหนทางดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ