• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๑๐ คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับรังสี

๑๐ คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับรังสี


ถาม : วันชัย/กรุงเทพฯ

๑. จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองโดนรังสีที่มีอันตราย

๒. รังสีที่เป็นข่าวต่างกับรังสีจากไมโครเวฟหรือไม่ และต่างจากรังสีอื่นๆ อย่างไร ต้องห่างเท่าไรถึงปลอดภัย

๓. ถ้าถ่ายเอกซเรย์บ่อยๆ จะได้รังสีชนิดนี้ด้วยหรือไม่

๔. ถ้าบ้านอยู่ในละแวกใกล้ๆ และมีภรรยาตั้งครรภ์ และมีเด็กเล็กๆ ในบ้านจะมีผลกระทบอย่างไร

๕. ทำไมต้องแยกผู้ได้รับรังสีออกจากผู้ป่วยอื่นๆ หรือผู้ป่วยจากรังสีจะมีการแผ่รังสีหรือไม่

๖. ถ้าไปเจาะเลือดตรวจแล้วแพทย์บอกว่าปกติแพทย์ดูที่อะไรและจำเป็นต้องตรวจเลือดซ้ำหรือไม่ นานเท่าไร

๗. ถ้าผมเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาล ที่พบผู้ป่วยที่สงสัยว่าได้รับรังสีมากเกินขนาด ในเบื้องต้นผมควรทำอย่างไร

๘. ทำไมผู้ป่วยจากรังสีต้องถูกตัดมือหรือนิ้ว เป็นผลจากรังสีหรืออื่นๆ

๙. ที่บอกว่าถ้าโดนรังสีแล้วจะเป็นมะเร็งเกี่ยวกับรังสีชนิดนี้หรือไม่

๑๐. มีการขจัดสารรังสีที่ผู้ป่วยได้รับหรือไม่

 

ตอบ : นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร

๑. การสังเกตตนเองง่ายๆ โดยใช้อาการแสดง เช่น ในกรณีที่สัมผัสกับวัตถุต้องสงสัย แล้วอีก ๒-๓ วัน ต่อมามีผื่นหรือตุ่มพองคล้ายโดนน้ำร้อนลวก คลื่นไส้อาเจียนพร้อมกับซีด เลือดออกผิดปกติ และผมร่วง ในกลุ่มนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มได้รับรังสีรุนแรงเฉียบพลัน ส่วนในกลุ่มที่ได้รับน้อยๆ แต่ได้นานๆ อาจไม่มีอาการแสดงเบื้องต้น แต่จะมาพบแพทย์ในปัญหาไข้ติดเชื้อ และไขกระดูกไม่ทำงาน หรือมะเร็งของระบบเลือดครับ

๒. รังสีมีหลายชนิดรังสีจากโคบอลต์ ๖๐ อยู่ในพวกมีประจุกลุ่มรังสีเบตา ซึ่งมีการทะลุทะลวงสูง (การลดความแรงของรังสีลงครึ่งหนึ่ง ต้องใช้ผนังคอนกรีตหนา ๒.๔๕ นิ้ว หรือตะกั่วหนา ๑๑ มิลลิเมตร) ในขณะที่รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด และรังสีจากไมโครเวฟจัดอยู่ในพวกไม่มีประจุ จึงไม่อยู่ในกลุ่มรังสีอันตราย อยู่ห่างเท่าไรจึงปลอดภัย อันนี้บอกได้ยากครับ ขึ้นอยู่กับการตรวจวัดระยะห่างโดยใช้เครื่อง Geiger-Mueller-Counter หรือ Scintillation-detectors ครับ

๓. เป็นรังสีชนิดเดียวกันแต่จำนวนน้อยกว่ามาก

๔. มีรายงานของความผิดปกติของสติปัญญาในเด็กที่เกิดจากมารดาที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสี (จากระเบิดปรมาณูในญี่ปุ่นและโรงงานไฟฟ้าปรมาณูรั่วที่รัสเซีย) เด็กมีความเสี่ยงต่อมะเร็งสูงเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และผลกระทบอื่นๆ ใกล้เคียงกัน เช่น เป็นหมัน เม็ดเลือดขาวลดลง

๕. ผู้ป่วยจะไม่มีการแพร่รังสีจากตัวเอง แต่ในรายที่กินสารรังสีเข้าไปก็จะตรวจพบได้ในอุจจาระ ปัสสาวะ และน้ำล้างกระเพาะ ส่วนใหญ่การแยกผู้ป่วยได้รับรังสีจากผู้ป่วยอื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม เพราะไขกระดูกของผู้ป่วยจากรังสีมีการสร้างเม็ดเลือดขาวน้อยลง หรือไม่ได้เลย จึงทำให้กำจัดเชื้อโรคไม่ได้

๖. การตรวจเลือดในระยะแรก เพื่อดูเม็ดเลือดขาวว่าจำนวนปกติ หรือไม่ และควรตรวจซ้ำในอีก ๔๘ ชั่วโมงถัดไปหลังสัมผัส ส่วนเม็ดเลือดแดงจะไม่ลดในตอนแรก แต่จะลดใน ๒-๔ สัปดาห์ต่อไป (เพราะช่วงชีวิตของเม็ดเลือดแดงยาวกว่าประมาณ ๑๒๐ วัน)

๗. ในผู้ป่วยรายที่สงสัยว่าจะสัมผัสสารรังสี ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ และเปลี่ยนเสื้อผ้าที่คิดว่าปนเปื้อนรังสีบางชนิด (เช่น นิวตรอน) จะมีการจับที่ส่วนโลหะที่ติดตัวผู้ป่วย ดังนั้นต้องระวังโลหะ เช่น หัวเข็มขัด กระดุม แหวนด้วย ครับว่าจะเป็นตัวแพร่รังสี (ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจากรังสีจะไม่เป็นตัวแพร่รังสี) การเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อดูจำนวนเม็ดเลือดขาวควรเก็บเลือดบางส่วนเพื่อตรวจ HLA (ใช้ในการตรวจกรุ๊ปเลือด เพื่อเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก) ด้วย ในกรณีไม่ทราบว่าเป็นรังสีชนิดใด ควรใช้เครื่องตรวจวัดรังสีที่ตัวผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจได้สารรังสีโดยการกิน ซึ่งในกรณีที่เกิดจากการกินการรักษาโดยการสวนล้างกระเพาะอาหารก็มีประโยชน์

๘. ผลจากรังสีเองส่วนหนึ่งทำให้เซลล์ในร่างกายตาย โดยเฉพาะเซลล์ของหลอดเลือดเล็กๆ หรือมีการบวมของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นมาก ทำให้อวัยวะนั้นไม่มีเลือดไปเลี้ยง ซึ่ง ผลที่ตามมาจะทำให้ติดเชื้อและแพร่กระจายต่อไปทั่วร่างกายได้

๙. มีรายงานของมะเร็งในระบบน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยจากการได้รับสารรังสี และบางรายงานมีมะเร็งของผิวหนัง มะเร็งของต่อมไทรอยด์ ดังนั้นการนัดผู้ป่วยที่สัมผัสรังสีมาตรวจเป็นระยะมีความสำคัญ แม้ว่าไม่มีอาการผิดปกติในช่วงแรกแล้ว

 ๑๐. สำหรับโคบอลต์ ๖๐ ไม่มี แต่ถ้าเป็นโลหะหนักกัมมันตรังสีตัวอื่น การให้สารกำจัดอาจมีประโยชน์ เช่น ในรายได้รับ Mercury 203, Iodine 131, cesim 137 ในระยะแรกที่ได้รับเพื่อเพิ่มการขับถ่ายออกครับ