• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การกินอาหารและข้อปฏิบัติสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน

การกินอาหารและข้อปฏิบัติสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน

ถาม : ภักดี/อุดรธานี
ผมมีปัญหาขอรบกวนคุณหมอ ให้ความกระจ่างผมด้วย ผมอายุ ๔๗ ปี ไปตรวจเบาหวานครั้งแรก โดยอดอาหารหลังเที่ยงคืน เพราะต้องตรวจตอน ๘ โมงเช้า ผลตรวจเลือดได้ ๑๒๖ mg/dl หมอบอกให้งดของหวานและอาหารจำพวกแป้ง ครั้งที่ ๒ อีก ๑ เดือนก็นัดให้มาตรวจอีก ผลเลือดได้ ๙๕ mg/dl ครั้งที่ ๓ อีก ๒-๓ เดือน ก็มาตรวจผลเลือดจะได้ (๘๕-๙๐-๑๐๒-๙๕ บ้าง)

ผมเคยถามคุณหมอที่คลินิกแถวบ้านหลายท่านจะตอบไม่ตรงกัน บางท่านก็บอกว่าให้หลีกเลี่ยงของหวานจัด บางท่านก็บอกว่ากินได้ปกติ และผมก็ยังเคยถามคนที่เป็นเบาหวานที่ตรวจได้ ๑๕๐ mg/dl เขาก็บอกว่าเขากินอาหารตามปกติ (ผมเคยสุ่มตรวจเลือดโดยกินอาหาร ๒ ชั่วโมง ผลตรวจที่ได้ ๑๒๐ mg/dl) ผมจึงอยากทราบว่า

- ผลเลือดที่ตรวจได้ ผมปกติไหม

- แล้วจะกินอาหารได้อย่างคนปกติได้หรือเปล่า

- และผมควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ
 

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ตามที่เล่ามา เข้าใจว่าคุณไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไร (เช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ซึ่งเป็นอาการของโรคเบาหวาน) แต่บังเอิญไปตรวจเช็กสุขภาพ พบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือด (หลังอดอาหาร ๖ ชั่วโมง) ๑๒๖ มก./ดล. (หรือ มก. ต่อเลือด ๑๐๐ มล.) ตัวเลขนี้ ทางการแพทย์ถือว่าสูงผิดปกติ แต่การตรวจเช็กเพียงครั้งเดียว ยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน จะต้องตรวจเลือดซ้ำอีกซักครั้ง ถ้ายังพบว่ามีค่าตั้งแต่ ๑๒๖ มก./ดล. ขึ้นไป ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานระยะแรก หรือระยะไม่มีอาการแสดง แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่ต้องควบคุม หากปล่อยทิ้งไว้ระยะยาวก็อาจมีโรคต่างๆ แทรกซ้อนตามมาได้ แต่ผลการตรวจครั้งที่ ๒ และครั้งต่อๆ มา ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอด เช่นนี้ก็ยังถือว่าไม่ได้เป็นเบาหวาน

หากคุณมีกรรมพันธุ์เป็นเบาหวาน หรือมีน้ำหนักตัวมาก ก็ควรจะระมัดระวังอย่ากินของหวานมาก และควรลดน้ำหนักตัวถ้าอ้วน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรีสูง (ของมันๆ เช่น กะทิ) และออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรตรวจน้ำตาลในเลือดทุก ๓-๖ เดือน หรือตามคำแนะนำของแพทย์ที่ตรวจ แต่ถ้าหากไม่มีกรรมพันธุ์เป็นเบาหวาน และน้ำหนักตัวไม่มาก ก็สามารถกินอาหารได้ตามปกติ (ก็คงหมายรวมถึงว่า ไม่กินอาหารหวานจัดในปริมาณมากกว่าคนปกติทั่วไป) และควรตรวจน้ำตาลในเลือดทุก ๑-๓ ปี ตามที่แพทย์จะเห็นสมควร

สรุปก็คือ ถ้าตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อยเพียงครั้งเดียว ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นเบาหวานแต่อย่างใด แต่ควรดูแลสุขภาพตนเอง ตามหลักทั่วไป คือ ระวังเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักตัว และควรจะติดตามตรวจเลือดเป็นช่วงๆ ต่อไป