• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความร้อน-ความเย็นใช้อย่างไร

ความร้อน-ความเย็นใช้อย่างไร

ถาม : นิกร/สงขลา

ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๖ ดูกีฬาซีเกมส์ หลังจากนักกีฬายิมนาสติกพลาดตกจากอุปกรณ์บาร์คู่ ขากระแทกบาร์ข้างหนึ่งแล้ว ผู้ฝึกสอนหาวัสดุบางอย่างประคบให้นักกีฬา ทำให้มีข้อสงสัยบางประการ ดังนี้

๑. ที่ผู้ฝึกสอนประคบให้นักกีฬา เกี่ยวข้องกับการใช้ความร้อน-ความเย็นอย่างไร

๒. เมื่อไรควรใช้ความเย็น และเมื่อไรควรใช้ความร้อน

๓. ใช้ความร้อน ความเย็น ดูแลตนเองอย่างไร
 

ตอบ : อาจารย์กันยา ปาละวิวัธน์
ผู้ฝึกสอนกีฬาจะรีบดูแลรักษานักกีฬาที่บาดเจ็บจากการฝึกซ้อม และแข่งขันทันที เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยให้นักกีฬาบาดเจ็บโอดโอยข้างสนามไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ เพราะอาจทำให้มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง รักษาให้เป็นปกติช้า

๑. ผู้ฝึกสอนกีฬาดูแลนักกีฬา บาดเจ็บ รวมถึงคนทั่วไปด้วย คือ การใช้ความร้อน ความเย็น ผลของความร้อนและความเย็นต่อร่างกาย มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นกับ อุณหภูมิระยะเวลาและวิธีการใช้ความร้อนหรือเย็น ความสามารถของระบบการไหลเวียนเลือดของร่างกาย ความมากน้อยของพื้นที่ผิวกายที่ได้รับความร้อน อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม และโรคที่ทำการรักษา สำหรับโรคที่ห้ามใช้ความร้อน และความเย็นรักษา เช่น โรคมะเร็ง โรคที่อาการตกเลือดภายในร่างกาย โรคไตอักเสบ โรคหัวใจชนิดรุนแรง

๒. ความเย็น ควรใช้ความเย็นรักษาบริเวณที่เพิ่งได้รับอันตรายมาใหม่ๆ หรือภายหลังเกิดอันตรายไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง หรือรักษาบริเวณที่ยังมีการอักเสบ บวมแดงร้อนมากๆ สาเหตุที่จะต้องใช้ความเย็นภายใน ๗๒ ชั่วโมง เพราะความเย็นจะทำให้เกิดการตีบตัวของหลอดเลือด ช่วยหยุดการออกของเลือด ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากเลือดที่ออกมาคั่งระหว่างเซลล์ ช่วยลดอาการบวม อาการอักเสบและลดปวด ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคของหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่เส้นประสาทสัมผัสเสีย ผู้ป่วยมะเร็ง และคนที่แพ้ความเย็น

สำหรับความร้อน ควรใช้รักษาหลังได้รับอุบัติเหตุแล้วประมาณ ๔๘ ชั่วโมง การใช้ความร้อนกับบริเวณของร่างกายที่เพิ่งได้รับอันตรายมาใหม่ๆ จะทำให้บริเวณนั้นยิ่งได้รับอันตรายมากขึ้น เพราะความร้อนจะกระตุ้นให้เลือดมาอยู่ตรงบริเวณนั้นมาก ทำให้เลือดยิ่งคั่ง และไปกดเนื้อเยื่อ บริเวณนั้นให้ได้รับอันตรายเพิ่มขึ้น ห้ามใช้ความร้อนกับโรคบางชนิด อาจเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ เช่น มะเร็ง เพราะความร้อนจะทำให้การเจริญของเซลล์มะเร็งแพร่กระจายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

๓. การใช้ความร้อนและความเย็นที่ถูกต้องรักษาตนเองง่ายๆ ประกอบด้วย

(๑) เกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ ใช้ความเย็นเท่านั้น
เมื่อเกิดอุบัติใหม่ๆ เช่น หกล้ม ข้อเท้าแพลง ตกรองเท้าส้นตึก   ข้อเท้าพลิก ข้อมือซ้น ถูกประตูหนีบ ห้ามนวด หรือใช้ความร้อนกับบริเวณนั้นทันที เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อได้รับอันตรายมากขึ้น เนื่องจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่ทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอย ถ้าใช้ความร้อนจะทำให้เลือดออกมากขึ้น การป้องกันไม่ให้เลือดออกเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นควรใช้ความเย็น (น้ำแข็ง) ประคบบริเวณนั้น (เพื่อให้หลอดเลือดตีบตัว) ประมาณ ๑๐-๑๕ นาที แล้วพัก ๑๐ นาที ขณะทำการประคบพยายามยกส่วนที่ได้รับอันตรายให้สูงกว่าระดับหัวใจ ควรใช้ความเย็นรักษาประมาณ ๒-๓ วัน ถ้าอาการต่างๆ ยังไม่หายสนิทควรรักษาด้วยความร้อน

(๒) การอักเสบของเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ ใช้ความร้อน
สามารถรักษาการอักเสบได้โดยใช้ความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการประคบด้วยกระเป๋าไฟฟ้า หรือการแช่น้ำอุ่น อาบน้ำอุ่น ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน

(๓) ตกหมอน หรือปวดต้นคอหลังตื่นนอน
หลังตื่นนอน บางคนหันคอหรือ เอียงคอไม่ได้ เพราะ เจ็บหรือปวดคอ อาการนี้นิยมเรียกว่า อาการตกหมอน รักษาโดยใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอที่ตัวเองกดแล้วเจ็บ ประมาณ ๒๐-๓๐ นาที ความร้อนที่ใช้ควรมากเท่าที่จะทนได้ หลังจากนั้นใช้มือกดนวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ และให้สังเกตอาการ ถ้าดีขึ้นให้บริหารกล้ามเนื้อต้นคอ ทำวันละ ๒-๓ ครั้งทุกวัน จนกว่าอาการจะปกติ

(๔) ปวดเมื่อยทั้งตัวหลังจากทำงาน
ความร้อนช่วยคลายความเครียดของกล้ามเนื้อมีบริเวณกว้าง ควรให้การรักษาด้วยความร้อนที่สามารถให้กับร่างกายได้บริเวณกว้างๆ เช่น อาบน้ำอุ่นประมาณ ๑๕-๒๐ นาที

หลักการง่ายๆ เรื่องความร้อน ความเย็น

  • ภายใน ๗๒ ชั่วโมง ใช้ความเย็น
  • หลังจาก ๔๘ ชั่วโมง ใช้ความร้อน

ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัด