• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดเข่า

ปวดเข่า

ถาม : นพวรรณ/กรุงเทพฯ

ดิฉันอยากขอคำแนะนำจากคุณหมอ ดังนี้ค่ะ คุณแม่ของดิฉันอายุ ๗๒ ปี น้ำหนัก ๕๐ กิโลกรัม ส่วนสูง ๑๕๕ เซนติเมตร มีอาการปวดเข่า เมื่อเดือนที่แล้วได้พาคุณแม่ไป หาหมอที่โรงพยาบาลเลิดสิน คุณหมอให้ถ่ายเอกซเรย์ ผลคือ กระดูกตรงข้อเข่ามีรูปร่างแบบคล้ายปากนก ให้กระดูกขัดสีและสึกไปบางส่วนตรงข้อที่รองรับ คุณหมอได้ให้ยามากิน แต่ไม่ได้นัดอีก ยาที่ได้มาคือ viartril-S และ chalk tab เม็ดสีเหลือง ๑.๒๕ กรัม กินอย่างละ ๑ เม็ด กิน ๓ เวลา และยาแก้ปวด (กินเฉพาะเวลาปวด) ชื่อทางการค้าว่า VIO...อะไรจำไม่ได้

คุณแม่ได้ยินว่าหากเจ็บจะต้องผ่าตัด คุณแม่กลัวและไม่กล้าไปหาหมออีก แต่คุณแม่บอกว่ากินยา ๒ เม็ดแรกแล้วอาการดีขึ้นมาก ไม่ค่อยมีเสียงกึ๊กๆ เวลาลุกนั่ง และนานๆ จึงจะเจ็บ (คุณหมอบอกว่าเป็นโรคกระดูกเสื่อม) พอยาหมด ดิฉันจึงไปซื้อยาจากร้านขายยามาให้คุณแม่กินต่อเนื่อง โดยเภสัชกรประจำร้านบอกว่ากินเป็น ประจำได้ และไม่เป็นอะไร หากใช้เป็นเวลานานๆ ทุกวันนี้คุณแม่ยังกินอยู่ แต่กินแค่เช้าและเย็น เพราะคุณแม่บอกว่ายาแพง

คุณหมอช่วยแนะนำดิฉันด้วยเถอะค่ะ เพราะทำอะไรไม่ถูก
๑. ยา ๒ ตัวแรก คือ viartril- S และ chalk tab กินประจำได้หรือไม่ มีผลข้างเคียงไหม
๒. ควรฝืนใจพาคุณแม่ไปผ่าตัดหัวเข่าหรือไม่ และถ้าผ่าตัดแล้วจะมีผลเสียมากน้อยเพียงใด
๓. คุณแม่อายุมากแล้ว รักษาด้วยยาหรือวิธีอื่นได้หรือไม่ คือไม่ต้องผ่าตัด
๔. ดิฉันควรดูแลคุณแม่อย่างไร (ท่านยังแข็งแรง แต่ไม่ชอบอยู่เฉยๆ ขยันทำงานตลอดเวลา)
 

ตอบ : นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์

๑. Viartril-S เป็นยาใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์ ทั้งที่ได้ผลดีและที่ได้ผลยังไม่แน่ชัด ยานี้ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้เป็นระยะเวลานาน อย่างไร  ก็ดีอาจมีอาการไม่พึงประสงค์บางประการได้ เช่น บวมปลายมือ ปลายเท้า หัวใจเต้นแรง ง่วง ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น ยา chalk tab เป็นยาเสริมแคลเซียม สำหรับผู้ที่ได้ปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือต้องการเพิ่มปริมาณแคลเซียม ถ้ากินมากทำให้มีโอกาสเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนั้นอาจทำให้ท้องผูก จึงควรระมัดระวังในผู้สูงอายุและมีอาการท้องผูก

๒. ข้อเข่าเสื่อมที่เป็นมากจนรบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะได้รับการรักษาทางยาและวิธีการอื่นๆ อย่างเต็มที่แล้ว อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งสามารถผ่าตัดได้ หลายวิธีแล้วแต่พยาธิสภาพ และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งผู้ป่วยและญาติควรปรึกษาแพทย์ ผู้รักษาจนเข้าใจดี การผ่าตัดที่มีข้อบ่งชี้เหมาะสม จะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

๓. รักษาด้วยวิธีอื่นที่สำคัญ คือ การดูแลสุขภาพทั่วไป ไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไป การออกกำลังกายเหมาะสม การบริหารกล้ามเนื้อ รอบเข่าให้แข็งแรง การใช้ข้อเข่าที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้กระทบกระแทกต่อข้อเข่าเกินความจำเป็นการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด และการใช้ยา

คุณควรให้คุณแม่ทำงานตามปกติ แต่แนะนำว่าไม่ควรนั่งพับเข่านานๆ เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง ควรให้นั่งเก้าอี้ เข่างอ ประมาณ ๙๐ องศา ไม่ควรยกของหนัก ควรควบคุมอาหารไม่ให้อ้วนเกินไป แนะนำการบริหารกล้ามเนื้อ รอบข้อเข่าให้แข็งแรง โดยถามจากแพทย์ นักกายภาพบำบัด หรืออ่านจากหนังสือ กินยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัด หรือเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลง