• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝังเลนส์แก้สายตาสั้น

ถาม: อารียา/ตรัง
ข้อดีข้อเสียของการผ่าตัดฝังเลนส์แก้สายตาสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการทำเลสิก (lasik)
ปัจจุบัน ดิฉันอายุ ๔๔ ปี สายตาสั้นประมาณ ๖๕๐ สายตาเอียง ข้างขวา ๒๐๐ ข้างซ้าย ๑๕๐ ใส่คอนแทกเลนส์แบบใช้แล้วทิ้ง สายตาเริ่มยาวประมาณ ๕๐-๗๕ ต้องการผ่าตัดแก้สายตาสั้น แต่คนที่รู้จักบางคนทำเลสิกแล้วมีปัญหา บางคนทำแล้วก็ได้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ รุ่นน้องคนหนึ่งทำ excimer (ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกหรือไม่) นานประมาณ ๖ ปีแล้วได้ผล ๑๐๐เปอร์เซ็นต์ เลยสับสน
เมื่อ ๒-๓ วันก่อนอ่านพบวิธีใหม่ เป็นการฝังเลนส์ ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจ


ตอบ: นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย
วิธีแก้ไขปัญหาสายตาสั้นมีหลายวิธี เช่น
๑. ใส่แว่น ปลอดภัยที่สุด เสี่ยงต่ำสุด
๒. ใช้คอนแทกเลนส์ มีความเสี่ยงสูงขึ้นมา และยิ่งเพิ่มความเสี่ยง (เช่น ติดเชื้อแทรกซ้อนที่กระจกตา กระจกตาขุ่น หรือมีหลอดเลือดและพังผืดงอกเข้าไป เป็นต้น) สูงขึ้น ถ้าดูแลไม่ถูกวิธี
๓. เลสิก (LASIK - Laser in situ keratomileusis) อาจแก้ไขสายตาสั้นได้ถึง ๑,๒๐๐-๑,๕๐๐ เป็นต้น)
๔. การใส่เลนส์เข้าไปในตา ซึ่งก็มี ๒ แบบ คือ ใส่เลนส์เข้าไปในช่องลูกตา และใส่ ring เป็นวงแหวนฝังเข้าไปในกระจกตา เพื่อเปลี่ยนโฟกัสไปให้ตรงจอประสาทตา ทั้งสองอันนี้ทำแล้วสามารถเอาออกได้ (เลสิกอาจปรับเปลี่ยนได้บ้าง แต่ไม่สามารถย้อนคืนกลับไปสู่สภาพก่อนการทำได้ แต่เลสิกก็มีความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนที่อันตรายมากๆ น้อยกว่า)
๕. การผ่าตัดเอาเลนส์ธรรมชาติออก โดยอาจจะใส่หรือไม่ใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทน (ขึ้นกับระดับสายตาและสภาพลูกตา)
๖. Orthokeratology เป็นวิธีใส่คอนแทกเลนส์ที่ค่อนข้างแข็งเพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสม ใส่เฉพาะตอนนอน แล้วตอนกลางวันก็ไม่ต้องใส่ วิธีนี้ค่อนข้างใหม่

ไม่มีวิธีไหนดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น
ในกรณีของคุณ (ประเมินจากข้อมูลที่ให้มา) ขอเลือกเลสิกก่อน แต่จะเหมาะหรือไม่ ทำได้หรือไม่ ต้องไปตรวจกันอีกที