• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รังแคบนศีรษะ

ถาม : นพดล/อุดรธานี
ปัจจุบันผมอายุ ๓๐ ปี อาชีพพนักงานบริษัท ยังไม่ได้แต่งงาน มีปัญหาเรื่องหิมะตก (รังแค) ในช่วงฤดูหนาว ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจตัวเอง (ไม่กล้าใส่เสื้อสีเข้มเลย)
จึงขอเรียนถามว่า รังแคเกิดจากอะไร และควรจะรักษาอย่างไร
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ

ตอบ : นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
รังแค คือขุยบนเส้นผมหรือหนังศีรษะ อาจมีลักษณะแห้งหรือมันก็ได้ รังแคไม่ใช่โรค แต่เป็นความแปรปรวนของเซลล์หนังศีรษะที่แบ่งตัวมากขึ้นกว่าปกติ แล้วหลุดออกง่ายและเร็วกว่าปกติ กลายเป็นขุยขนาดใหญ่ที่สามารถสังเกตเห็นได้

แต่ก็พบว่ามีโรคบางอย่างที่ก่อ ให้เกิดรังแคได้ เช่น โรคที่มีฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากกว่าปกติ และโรคมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง นอก จากนั้นยังพบว่าโรคของหนังศีรษะเอง อาจทำให้เกิดขุยบนศีรษะได้ เช่น โรคเชื้อราของหนังศีรษะ โรคเรื้อน-กวาง โรคเกล็ดปลา (ichthyosis) โรคผิวหนังอักเสบ (seborrheic dermatitis) หรือการแพ้สารเคมีบางอย่าง

สาเหตุของรังแคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าเกิดจากการรบกวนต่อหนังศีรษะซึ่งอาจเป็นทางเคมีหรือทางกายภาพก็ได้
การรบกวนทางเคมี ได้แก่ การใช้แชมพู น้ำยาเซ็ทผม น้ำยาดัดผม น้ำยาย้อมผม น้ำมันแต่งผม เป็นต้น ส่วนการรบกวนทางกายภาพ ได้แก่ การเกา การถู เป็นต้น การรบกวนเหล่านี้แหละอาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เซลล์หนังศีรษะมีการแบ่งตัวมากขึ้น และหลุดลอกเร็วขึ้น
อย่าลืมว่าในภาวะปกตินั้น ผิวหนังชั้นนอกสุดจะหลุดออกมาเป็นขี้ไคลอยู่แล้ว การเสียดสี เช่น การสวมเสื้อ ก็จะช่วยให้ขี้ไคลหลุดลอกออกไปในลักษณะที่เราไม่รู้สึกและสังเกตไม่เห็น

แต่ที่หนังศีรษะนั้น เส้นผมจะคอยป้องกันไม่ให้ขุยของหนังศีรษะหลุดออกไปตามการเสียดสี
ดังนั้น การที่หนังศีรษะหมัก-หมม สกปรกหรือมันมาก ก็อาจทำให้ ขุยบนหนังศีรษะรวมกันเป็นชิ้น หรือแผ่นใหญ่ๆ จนเห็นเป็นรังแคได้
รังแคนั้นไม่ค่อยพบในเด็กเล็ก แต่จะเริ่มพบในช่วงอายุ ๕_๑๐ ขวบ และพบมากที่สุดในช่วงอายุ ๑๐_๓๐ ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ เป็นน้อยลง
รังแคอาจมีความสัมพันธ์กับการที่มีหนังศีรษะมัน ลักษณะทางกรรมพันธุ์ การแพ้แชมพู โรคติดเชื้อรา และโรคเรื้อนกวาง
รังแคแท้จะมีลักษณะเป็นแผ่น หรือชิ้น หรือขุยบางๆ สีเงิน หรือเทาเงิน รังแคนี้จะหลุดจากหนังศีรษะโดยง่ายเมื่อเวลาแปรงผมหรือหวีผม
ครับ...เห็นเป็นเกล็ดหิมะโปรย ปรายลงมา นั่นแหละเขาล่ะ...รังแค

การรักษารังแค สามารถทำโดยการใช้แชมพูรักษารังแคที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งมีตัวยาสำคัญในการขจัดรังแค คือซิงก์ไพริไทออน ซีลิเนียมซัลไฟด์ และคีโตโคนาโซล
ตัวยาเหล่านี้ลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง และช่วยให้ขุยหรือขี้ไคลที่เกิดขึ้นไม่ลอกหลุดเร็วกว่าปกติ รวมถึงลดจำนวนเชื้อราบนหนังศีรษะลงด้วย
การใช้แชมพูรักษารังแคใช้ตามคำแนะนำหรือฉลากข้างขวด เมื่อรังแคหายแล้วก็อาจกลับเป็นใหม่ได้อีก

ดังนั้น จึงควรสังเกตตนเอง ว่า หลังจากสระผมด้วยแชมพูรักษารังแคแล้ว อีกกี่วันจะเริ่มกลับมีอาการคันศีรษะหรือมีขุยเล็กๆ เกิดขึ้นอีก
เมื่อรู้ว่าใช้เวลากี่วัน ก็ให้สระผมด้วยแชมพูธรรมดาที่เหมาะสมกับสภาพของเส้นผมของคุณแล้วเปลี่ยนมาใช้แชมพูยา ก่อนที่จะเริ่มมีอาการดังกล่าว ๑ วันไปเรื่อยๆ
การใช้แชมพูรักษารังแคตลอด ไป อาจทำให้รังแคดื้อต่อยานั้นได้

การเลือกใช้แชมพูหลังรังแคหายแล้ว ขึ้นอยู่กับสภาพเส้นผมของ คุณว่ามีลักษณะมัน ธรรมดา หรือแห้ง แชมพูตามท้องตลาดจะมี ฉลากข้างขวดบอกสภาพเส้นผมที่เหมาะสมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ คุณยังต้องป้องกันไม่ให้รังแคเกิดขึ้นมาอีก โดยการไม่รบกวนหนังศีรษะบ่อยๆ เช่น ไม่ทำผม เซ็ทผม หรือย้อมผมบ่อยๆ ไม่เกาหนังศีรษะแรงๆ เวลาสระผม เป็นต้น

ถ้าใช้แชมพูรักษารังแคแล้ว ไม่ได้ผล หรือมีปัญหาว่าอาจไม่ใช่รังแคแท้ แต่เป็นโรคอื่นของหนังศีรษะ คุณก็ควรจะได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ผิวหนัง
ถ้ามารักษาช้าเกินไปอาจทำให้ ผมร่วงเป็นหย่อมๆ และอาจรักษาให้ผมบริเวณนั้นขึ้นใหม่อีกไม่ได้