• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จุดดำ

จุดดำ

ถาม : สมหวัง/กรุงเทพฯ
ปัจจุบันดิฉันอายุ ๓๓ ปี มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา คือ ตาข้างซ้าย เวลาอ่านหนังสือนานๆ จะเห็นเป็นจุดดำๆ ลอยไป-มาอยู่ข้างหน้า รู้สึกรำคาญจนต้องขยี้ตา (ตอนแรกนึกว่าเศษผงหรือขี้ตาติดอยู่) ไม่ทราบว่าจุดดำๆ นี้จะเป็นอันตรายต่อตาหรือไม่ และรักษาได้หรือเปล่าค่ะ คุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ
 

ตอบ : พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
หลายๆ คนอาจเคยมีอาการดูเหมือนเห็นอะไรลอยไปลอยมา บางคนมีความรู้สึกว่าเหมือนมียุงบินอยู่ข้างหน้า บางครั้งถึงกับใช้มือไปปัดก็ไม่พบว่ามีอะไร บางคนมีความ ละเอียด เห็นเป็นจุดดำๆ ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก เคลื่อนไหวอยู่ข้างหน้า บางคนสามารถวาดลักษณะของภาพที่เป็นตัวเหมือนลูกน้ำ บางคนอาจบอกว่าเห็นเป็นจุด ดำๆ หรือเป็นเงาหงิกๆ งอๆ ลอยไปมาตามการเคลื่อนไหวของลูกตา บางทิศทางอาจจะหายไป บางทิศทางเห็นชัด บางคนหายไประยะหนึ่งแล้วกลับเป็นใหม่ ที่เป็นหลายจุดมักจะบอกว่าเห็นอยู่ตลอด ไปรับการตรวจจากจักษุแพทย์ซึ่งมักจะบอกง่ายๆ ว่าเป็นน้ำวุ้นเสื่อม ทั้งนี้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำวุ้นภายในดวงตานั่นเอง น้ำวุ้นในตาเป็นน้ำใสมีลักษณะหนืดๆ ปราศจากหลอดเลือดคล้ายๆ ไข่ขาว เป็น ๒ ใน ๓ ของปริมาตร ของลูกตาคนเราโดยประมาณ น้ำวุ้นตามีส่วนเป็นน้ำถึงร้อยละ ๙๙ ที่เหลือส่วนน้อยเป็นโปรตีน กรด hyaluronic และมีสาร electrolyte แบบเดียวกับที่พบในเลือด เรียงตัว เป็นเส้นใยอาจพบเซลล์ได้บ้าง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือน้ำวุ้นภายในตาประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนมาก และเส้นใยเล็กน้อย เมื่ออายุมากขึ้นน้ำวุ้น ที่ว่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงส่วนที่หนืดๆ จะกลายเป็นน้ำมากขึ้น ทำให้ส่วนที่หนืดถูกดันมาด้านใดด้านหนึ่ง ที่เรียกง่ายๆ ว่า น้ำวุ้นเสื่อม นั่นเอง

ความผิดปกติของน้ำวุ้นจะทำให้ผู้นั้นเห็นอะไรลอยไปลอยมา หรือถ้าเป็นมากอาจเห็นเหมือนฝนตก ในกรณีที่มีเลือดออกในน้ำวุ้น ผู้ป่วยบอกว่าเห็นคล้ายๆ เลือดไหลลงมาสีแดงๆ ความผิดปกติของน้ำวุ้นอาจเป็น

๑. เมื่อคนเราอายุมากขึ้น หรือผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ส่วนที่เป็นใยของน้ำวุ้นเสื่อมกลายเป็นน้ำมากขึ้น ทำให้ส่วนของเส้นใยมากองรวมกันเห็นเป็นเส้นชัดเจนยิ่งขึ้น

๒. เมื่อน้ำวุ้นมีการเสื่อมมากขึ้น ส่วนที่เป็นใยรวมตัวกันแล้วหลุดออกจากบริเวณที่เคยเกาะติดอยู่หรือวาง ชิดอยู่กับจอประสาทตามากองอยู่ตรงกลางจะมีรอยต่อระหว่างน้ำวุ้น ที่เป็นเมือกกับส่วนที่เป็นน้ำชัดเจนขึ้น เมื่อตากลอกไป-มา ใยน้ำวุ้นที่หลุดออกมาจะมีการเคลื่อนไหวมาบังสายตาเป็นเหตุให้เจ้าตัวเห็นอะไร ลอยไปลอยมา

๓. อาจจะมีสารเคมีบางตัวที่เกิดจากการสลายของเส้นใย เช่น เป็นพวกสารแคลเซียม โคเลสเตอรอลหลุดเป็นอณูอยู่ภายในน้ำวุ้น ทำให้เจ้าตัวเห็นเป็นจุดดำๆ ลอยไปลอยมา

๔. ๓ ประการที่กล่าวข้างต้นทำให้เจ้าตัวมีอาการเห็นอะไรลอยไปลอยมา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการเสื่อมตามอายุของน้ำวุ้น แต่มีส่วนหนึ่งที่ผู้มีอาการน้ำวุ้นเสื่อมควรได้รับ การตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะอาการที่เห็นอะไรลอยไปลอยมาร่วมกับเห็นแสงวูบวาบคล้ายฟ้าแลบ ซึ่งบ่งว่านอกจากจะมีน้ำวุ้นตาเสื่อมอาจมีความผิดปกติของจอประสาทตาร่วมด้วย เช่น มีจอประสาทตาเป็นรู หรือฉีกขาดร่วมด้วย ส่วนที่ฉีกขาดอาจติดอยู่หรือหลุดลอยในน้ำวุ้น และการที่จอประสาทตาเป็นรูบริเวณขอบๆ ของรูจึงถูกกระตุ้นเสมอ หากกลอกตาไป-มาทำให้เข้าตาเห็นเสมือนมีแสงไฟวูบวาบ เป็นภาวะที่ต้องรีบรับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้จอประสาทตาส่วนอื่นๆ ที่ดีอยู่ถูกเซาะ ให้หลุดลอกมากขึ้นๆ ทำให้ตามัวลง ซึ่งถ้าถึงเวลานี้ต้องรับการรักษาโดยวิธีผ่าตัด ซึ่งยุ่งยากยิ่งขึ้น ถ้ารับการรักษาไม่ทันตาจะบอดในที่สุด

๕. นอกจากนี้ ยังมีภาวะที่ผิดปกติในน้ำวุ้นที่เกิดจากมีเซลล์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นภายใน ได้แก่ ภาวะที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อใกล้เคียง ทำให้เม็ดเลือดขาวเล็ดลอดมาในน้ำวุ้น หรือเป็นเม็ดเลือดแดงจากการได้รับอุบัติเหตุ หรือหลอดเลือดจอประสาทตามีความผิดปกติ ทำให้มีเลือดออก เม็ดเลือดแดงจะพลัดเข้ามาในน้ำวุ้น ตลอดจนเซลล์ที่มีสีซึ่งมาจากชั้นในสุดของจอประสาทตา หรือในบางรายอาจเป็นเซลล์มะเร็งหลุดจากเนื้อมะเร็งของจอตาก็ได้ เซลล์ต่างๆ เหล่านี้อาจบังเอิญหลุดเข้าไปในน้ำวุ้น ภาวะในกลุ่มนี้ต้องรับการรักษาที่ถูกต้องจากจักษุแพทย์ เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อใกล้เคียง เป็นผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในน้ำวุ้น

กล่าวโดยสรุป ถ้าท่านมีอาการเห็นอะไรลอยไปลอยมาในตาข้างหนึ่งหรือ ๒ ข้าง ควรรับการตรวจอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ ถ้าเป็นภาวะน้ำวุ้นเสื่อมซึ่งไม่ให้โทษอะไร เพียงแค่เกิดความรำคาญก็ไม่ควรกังวลกับมันมากนัก ถือเป็นการเสื่อมตามอายุ นานเข้าอาการอาจหายไปได้เอง เนื่องจากตกตะกอนไม่ลอยมาบังสายตาอีก ถ้าเป็นภาวะจอประสาทตาฉีกขาดหรือมีรูรั่วควรรับการยิงแสงเลเซอร์ตามคำแนะนำของแพทย์ และถ้าเป็นภาวะผิดปกติในข้อ ๕ ก็ควรรับการรักษาที่ถูกต้องจากจักษุแพทย์