• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เหงื่อบริเวณรักแร้

ถาม : รวิวรรณ/กรุงเทพฯ
ดิฉันมีปัญหาเกี่ยวกับเหงื่อจะขอเรียนปรึกษาคุณหมอ คือ ดิฉันเป็น คนที่มีเหงื่อออกบริเวณรักแร้มาก มากจนเป็นน้ำเปียกเฉอะแฉะใต้รักแร้ ทำให้ดูเหมือนสกปรก (เวลาใส่เสื้อผ้า สีพื้นจะเห็นชัดมาก ทำให้ไม่มีความมั่นใจเลยค่ะ) จึงอยากเรียนถามว่ามีวิธีแก้ไขบ้างไหมค่ะ
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

ตอบ : นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
ปัญหาเรื่องเหงื่อออกมากบริเวณรักแร้ จัดเป็นปัญหาที่พบบ่อย มานานมากแล้วครับ และก็เป็นกันทุกชาติทุกภาษาด้วย ที่อังกฤษในยุค วิกตอเรียนจะใช้กรดกำมะถันฟอกรักแร้เพื่อลดเหงื่อนี้

เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว มีการรักษาเหงื่อออกบริเวณรักแร้ด้วยการใช้ยาระงับประสาทกลุ่มบาร์บิทูเรต หรือบางครั้งก็ใช้การฉายรังสีเอกซ์เพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของอดีตนะครับ ปัจจุบันไม่แนะนำวิธีเหล่านี้แล้ว
เหงื่อออกมากบริเวณรักแร้นั้น นอกจากจะทำให้เสื้อผ้าเปียกแฉะ แลดูไม่ดีแล้ว เหงื่อไคลยังเป็นอาหาร ของแบคทีเรียบริเวณนั้น และก่อให้เกิดกรดไขมันที่มีกลิ่นฉุนคือ

'กลิ่นเต่า' นั่นเอง ไม่อยากให้ลูกเต่าเรียกพ่อหรือเรียกแม่ ก็คงต้องขจัดเหงื่อไคลกันหน่อย
การขจัดกลิ่นเต่านั้นมีหลักการ ใหญ่อยู่ ๒ อย่าง อย่างแรกคือ การลดการหลั่งของเหงื่อ อย่างที่สองคือ กำจัดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว
ผู้ที่มีปัญหาเหงื่อออกบริเวณรักแร้มากและตามมาด้วยการเกิดกลิ่นเต่านั้น มีวิธีปฏิบัติดังนี้คือ

- เลือกใช้ยาลดการหลั่ง เหงื่อ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า 'antiperspirants' ซึ่งก็จะเป็นลักษณะ ลางเนื้อชอบลางยานะครับ บางท่าน ใช้บางยี่ห้อแล้วก็ได้ผลดี บางท่านลองมาหลายยี่ห้อก็ยังไม่ค่อยจะได้ผล ทั้งนี้ เพราะแต่ละยี่ห้อที่ลองมานั้นอาจจะมีตัวยาที่เรียกว่า active ingredient เป็นตัวเดียวกัน ดังนั้น ถ้าจะเลือกยี่ห้อใหม่ ก็ต้องลองอ่านฉลากและเลือกที่ตัวยาต่างกันนะครับ

- การโกนขนรักแร้จะช่วยลดการเกิดกลิ่นตัวลงได้บ้าง ทั้งนี้ เพราะขนรักแร้ที่ยาวเฟื้อยจะกักเก็บเหงื่อไคล และเชื้อแบคทีเรียได้มาก อาจลองใช้ น้ำยา chlorhexidine 0.05% solution ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อทาบริเวณรักแร้วันละ ครั้ง ยาตัวนี้จะไม่ลดการหลั่งเหงื่อ แต่จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวได้

ถ้าลองพวกยาฆ่าเชื้อแล้วไม่ค่อยดี ก็อาจลองใช้กลุ่มยาลดการหลั่งเหงื่อ เช่น 20 % aluminium chloride ควรทายาตัวนี้ก่อนนอน ต้องทำ ความสะอาดรักแร้และซับให้แห้งสนิทก่อนทายาลดเหงื่อ เพราะถ้าทา ยาตัวนี้ลงบนผิวหนังที่เปียกชื้น จะเกิด ปฏิกิริยาทำให้ได้กรดไฮโดรคลอริก ที่ระคายเคืองผิวหนัง

เวลาทายาลดเหงื่อควรทาในท่านอน คือ นอนราบบนเตียงแล้วค่อยทายาลดเหงื่อบริวเณรักแร้ หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมต้องนอนทา นักวิจัยเรื่องนี้เขาให้เหตุผลว่า เมื่อเรานอนราบ เหงื่อบริเวณรักแร้จะหยุดไหล ทำให้เมื่อทายาแล้วจะได้ผลดี เพราะทาบนผิวหนังที่แห้ง ปราศจากเหงื่อ ยาจึงไม่เจือจาง

ยาลดเหงื่อตัวนี้จะซึมผ่านรู เปิดของต่อมเหงื่อลงไป ทำให้ท่อต่อมเหงื่อบวมและเกิดการอุดตัน เหงื่อจึงไม่ไหลออกมา ไม่ควรทายาลดเหงื่อทันทีหลังการโกนขนรักแร้ เพราะจะแสบและระคายเคืองมาก ตื่นมาตอนเช้าก็ล้างรักแร้ให้สะอาด แล้วค่อยทาซ้ำในคืนต่อไป ถ้าเหงื่อ เริ่มลดลงแล้ว อาจลดการทายาลงเหลือเป็นวันเว้นวัน จนถึงกระทั่งสัปดาห์ละครั้งหรือ ๒ ครั้ง

บางคนใช้ยาลดเหงื่อ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้วก็ยังไม่ได้ผล ก็มีการรักษาที่ "เด็ดขาด" กว่านี้ ก็คือการผ่าตัดเอาผิวหนังบริเวณรักแร้บาง ส่วนออกไป ศัลยแพทย์จะฉีดยาชา แล้วตัดผิวหนังส่วนที่มีต่อมเหงื่อมาก ที่สุดของรักแร้ ขนาดประมาณ ๔ x ๑.๕ เซนติเมตร ออกไป ศัลยแพทย์บางท่านอาจใช้เทคนิคการดูดไขมัน (liposuction) เพื่อดูดต่อมเหงื่อออกจากผิวหนังส่วนลึก

อีกวิธีคือการผ่าตัดเส้นประสาท ที่เรียกว่า 'sympathectomy operation' ทั้งนี้ เพราะเส้นประสาท sympathetic จะควบคุมการหลั่งเหงื่อ การผ่าตัดนี้ จัดเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ต้องดมยาสลบ เส้นประสาทที่ว่านี้จะอยู่ที่หน้าอกใต้ซี่โครงซีกที่ ๒, ๓ และ ๔ ของหน้าอกทั้ง ๒ ด้าน ศัลยแพทย์จะผ่าตัดผ่านหน้าอกด้านข้าง และทำลายเส้นประสาทนี้โดยใช้กระแสไฟฟ้า หลังผ่าตัดอาจต้องพักฟื้น ๑-๓ สัปดาห์

ความสำเร็จของการผ่าตัดนี้คือผ่าแล้วเหงื่อหยุดไหลจะอยู่ที่ ร้อยละ ๓๐-๔๐ ดังนั้น บางคนโชคไม่ดี ผ่าตัดแล้วอาจเจ็บตัวฟรี เพราะก็ยังมีเหงื่อบริเวณรักแร้เหมือนเดิม ข้อเสียของการรักษาด้วยการผ่าตัดเส้นประสาทก็คือ บางครั้งหลังผ่าตัด เหงื่อบริเวณรักแร้จะไหลน้อยลง แต่จะมาไหลที่อื่นชดเชย เช่น ฝ่าเท้า หรือบริเวณท้อง ปัญหานี้พบได้บ่อยมาก คือระหว่าง ๑ ใน ๓-๓ ใน ๔ รายของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดวิธีนี้

ปัจจุบันมีวิทยาการก้าวหน้า สำหรับการรักษาอาการเหงื่อออกบริเวณรักแร้มาก โดยการฉีดสารโบท็อกซ์เข้าที่ใต้ผิวหนังรักแร้ ถ้าฉีดสารนี้ข้างละ ๕๐ ยูนิต พบว่าเหงื่อจะหยุดไหลไปได้ถึง ๘ เดือน วิธีนี้นับว่าง่ายและปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีเหงื่อออกมากบริเวณรักแร้ แต่เสียค่าใช้จ่ายสูงครั้งละ ๑๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป สารโบท็อกซ์นี้แพทย์ผิวหนังยังนำมาใช้เป็นสารคลายกล้ามเนื้อ ใช้รักษาริ้วรอยเหี่ยวย่นของหน้าผาก หัวคิ้ว และตีนกาได้อย่างปลอดภัย