• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้ชายวัยทอง

ถาม : ถาวร/อุดรธานี
ปัจจุบันอายุ ๔๕ ปี มีปัญหาขอเรียนถามดังต่อไปนี้
๑. อายุมากกว่า ๔๐ ปี จำเป็นต้องได้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนเหมือนผู้หญิงหรือไม่
๒. การเสริมฮอร์โมนเพศชายป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง และโรคกระดูกพรุนได้เช่นเดียวกับผู้หญิงหรือไม่
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ

ตอบ : นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์
๑. ผู้ชายวัยทองต่างกับผู้หญิง วัยทองตรงที่ผู้หญิงวัยทองเมื่อถึงเวลารังไข่จะหยุดทำงาน การสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจะหมดไป เพราะฉะนั้นผู้หญิงหลายคนซึ่งมีความจำเป็น จะต้องได้ฮอร์โมนทดแทนนั้น เป็นฮอร์โมนทดแทนที่พวกเธอขาดหาย ไป แต่ผู้ชายต่างกันตรงที่ว่าปริมาณฮอร์โมนเพศชายที่เป็นอิสระ เมื่ออายุมากขึ้นจะลดลงไป ทำให้ไม่พอที่จะใช้งาน

ดังนั้น เมื่อเกิดอาการขึ้นการเติมฮอร์โมนเพศชายเข้าไปจึงเป็นฮอร์โมนเพศชายเสริม ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ก็คือการเสริมส่วนที่พร่องไป เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว การได้ฮอร์โมนเพศชายจึงสามารถปรับเปลี่ยนขนาดของการได้รับในแต่ละวันได้ และสามารถจะปรับด้วยตนเองได้ โดยดูจากอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ส่วนการที่จะรับในปริมาณเท่าใดนั้น จำเป็นต้องไปรับการปรึกษาจากแพทย์ จนสามารถปรับเปลี่ยนขนาดของฮอร์โมนที่ได้ให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละวันได้ หรือถ้าเกิดมีการผลิตจากร่างกายตัวเองได้มากขึ้น วันนั้นอาจจะต้องการฮอร์โมนจากภายนอกน้อยลง

อย่าลืมว่า ผู้ชายนั้นจะยังคงสร้างฮอร์โมนเพศชายอยู่ไปตลอดชีวิต เพียงแต่ปริมาณการผลิตนั้นจะลดลงไปตามวัย และปริมาณฮอร์โมนเพศชายที่เป็นอิสระก็จะลดลงไปเช่นกัน การดูแลสุขภาพที่ดีจะทำให้มีการผลิตฮอร์โมนเพศชายในร่างกายได้มากขึ้น

๒. ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยกว่าผู้หญิง และมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีอายุสูงวัยกว่าผู้หญิงมาก ขณะเดียวกันผู้ชายวัยทองก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงมากกว่าตอนที่อายุยังน้อย ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง ผู้ชายจะขาดฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า DHEA ฮอร์โมนชนิดนี้มีคุณสมบัติที่จะไปทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัว ผนังหลอดเลือดมีการยืดหยุ่นดี ทำให้ไม่มีไขมันมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ง่าย ขณะเดียวกัน ถ้าเรามีปริมาณ ฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า เทสโตสเตอโรนในระดับที่สูง จะช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ทำให้ไม่มีไขมันไปเกาะที่หลอดเลือดมากนัก โอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจึงลดลงเช่นกัน

การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ชายที่ได้รับฮอร์โมนเพศชายเสริมที่เรียกว่า เทสโตสเตอโรนอันเดคาโนเอต หรือ TU นั้น อาการเจ็บหน้าอกจะลดลงไป ส่วนผู้ชายที่ได้ฮอร์โมนเพศชายเสริมดังกล่าว ในกรณีที่กระดูกบาง ก็พบว่ากระดูกหนาตัวขึ้นเช่นกัน