• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษาสายตาสั้นด้วยแสงเลเซอร์ (LASIK)

ผู้ถาม : แก้วตา/นครสวรรค์
ดิฉันมีปัญหาเรื่องสายตาสั้น จึงขอเรียนถามเกี่ยวกับเรื่องการรักษา สายตาสั้นด้วยแสงเลเซอร์ (LASIK) ดังนี้
- ขั้นตอนการรักษานั้นเป็นอย่างไร
- ข้อดีและข้อเสียมีอะไรบ้าง
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบให้ความกระจ่างด้วยนะคะ

ผู้ตอบ : นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย
LASIK คือ Laser In-situ Keratomileusis ครับ คือการแก้ไขการหักเหของแสงของกระจกตาดำ (cornea) ด้วยการใช้ laser beam ดังนั้น จะเหมาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ป่วยสายตาสั้น ยาว เอียง จะไม่เหมาะกับ คนที่กระจกตา (cornea) ไม่ค่อยเรียบ เช่น หลังผ่าต้อเนื้อ (pterygium) ที่เป็นมากๆ หรือคนที่มีแผลเป็นที่กระจกตาดำ หรืออื่นๆ ครับ
LASIK มีพื้นฐานมาจากวิธีอื่น เช่น lamellar rafractive keartoplasty, excimer laser photoablation ซึ่ง โดยมากก็เป็นการฝานกระจกตาดำออกไปแช่แข็ง ฝนให้แบนเป็นรูปร่างที่ต้องการ แล้วแปะกลับเข้าไปใหม่ แต่ปัญหาก็คือ กระจกตาดำที่ผ่านการแช่แข็งมีการสมานแผลที่ ไม่ค่อยดีเท่าไร เยื่อบุผิวกระจกตาดำ (corneal epithelial cell) จะลดลง

LASIK จึงพัฒนามาโดยมีวิธีการทำคือ 
- นำผู้ป่วยมาวัดสายตา กำหนดวิธีการผ่า 
- เตรียมก่อนการผ่า เช่น ยาชา หรือยาสลบ ถ้าผู้ป่วยดูท่าจะชักกระดุ๊กชักกระดิ๊ก 
- ฝานกระจกตาดำ แต่ไม่ฝานออกมาทั้งหมด เหลือไว้ด้านหนึ่ง ที่ยังติดกับฐานอยู่ แล้วพลิกตลบออกมา
- ใช้เลเซอร์หรือ keratome (เครื่องฝานกระจกตาด้วยการไถ ที่กำหนดความลึกได้) คล้ายๆ มีด (dermatome) ของ orthopedics, plastic surgery นั่นแหละครับ ฝานกระจกตา อันที่ตลบออกมาให้บางลงในรูปแบบที่คำนวณไว้แล้ว
- ตลบปิดกลับไปเหมือนเดิม ไม่ต้องเย็บ ไม่ต้องแปะกาว หลักง่ายๆ ก็ยังเงี้ยแหละครับ

ข้อดี
- ทำแล้วกลับบ้านได้เลย 
- ไม่เจ็บมาก 
- หลังผ่าไม่ต้องมีการดูแลรักษามากเท่าไหร่ 
- คุณเลิกเบื่อหน้าสวมแว่นกับการดูแลคอนแท็กเลนส์ไปเลย 
- ไม่พบภาวะแทรกซ้อนโหดๆ อย่างตาบอด หรือต้อหินโหดๆ อะไรพวกเนี้ย

ข้อเสีย
- คณะกรรมการอาหารและ ยา (FDA) ยังไม่ยอมรับครับ
- บางคนต้องทำซ้ำ ๒-๓ ครั้ง เพราะของพวกนี้จะไม่ ๑๐๐ เปอร์-เซ็นต์
- ไม่เหมาะกับคนที่สายตาไม่อยู่ในช่วง ๓๐๐-๘๐๐ เพราะถ้าน้อยกว่า ๓๐๐ ความคลาดเคลื่อนที่ มีจะทำให้ผลที่ได้ไม่คุ้มครับ ส่วน คนที่มากกว่า ๘๐๐ จะได้ผลไม่พอเพียง 
- บางคนมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเศษอะไรซักอย่างมาเกาะที่ กระจกตา แต่ก็ไม่มากนักหรอกครับ
บางคนมีกระจกตาเหี่ยว (flap wrinking), เห็นภาพแตกเวลามีแสงจ้าๆ (glare) และอื่นๆ ภาวะแทรกซ้อนที่โหดที่สุด (ผมเคยเจอในบทความวิชาการ แต่ไม่เห็นในเมืองไทย) คือ กระจกตาขุ่นทั้งหมด ( total cornea opaque) ต้องเอามาทำ PK คือรอ กระจกตาบริจาคมาผ่าเปลี่ยนกันเลย ซึ่งการหักเห (refraction) หลังทำ PK จะแย่ครับ มีเอียงเยอะไปหมด ก็ขู่ไว้นะครับ 
- หลังทำ บางคนจะเหลือ refractive error อีก ๒๕-๕๐-๗๕ ซึ่งก็ไม่ต้องใช้แว่นหรือคอนแท็กเลนส์ แต่จะไม่ได้ (สายตาที่คมชัด) ดังนั้น จึงไม่ค่อยเหมาะกับบุคลากรที่ต้องการสมบัตินี้ เช่น ศัลยแพทย์ทางหลอดเลือด จักษุแพทย์ เป็นต้น
เกี่ยวกับเรื่อง LASIK มีเสริมหน่อยครับ
กรณีที่สายตาสั้นมากกว่า ๘๐๐ หรือพวกที่สั้นเป็นพันๆ ขึ้นไป การใช้ LASIK อาจช่วยบ้างในแง่ที่ 
- ลดความหนาของเลนส์แว่นตาที่คุณต้องใช้ลงได้ (ได้เยอะ) 
- อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดเปลี่ยนใช้เลนส์เทียม (ผ่าตัดเอาเลนส์ ธรรมชาติในลูกตาออกเอาเลนส์เทียม ที่มีกำลังหักเหแสงเหมาะสมมาใส่แทน) อันนี้ใช้กรณีที่สายตาสั้นมากๆ ว่ากันเป็นพัน

กรณี presbyopia คือ สายตาของคนมีอายุ (คือ เมื่ออายุมากขึ้น เลนส์ปกติที่เคยปรับตัวเองเพื่อโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน ในตอนหนุ่มสาวจะหมดสภาพลง ทำให้ไม่สามารถโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ได้ ชัดเจน เป็นเหตุผลที่คนแก่จำนวน มากจ้องใช้แว่นอ่านหนังสือครับ) LASIK จะแก้ไขตรงนี้ไม่ได้ครับ
ความคืบหน้าของกรณี presbyopia นี้ กำลังมีการวิจัยหลายๆ แห่ง เช่น ในบราซิล หรือที่โรง-พยาบาลรามาธิบดีของไทยเราเอง โดยทำ Scleral expansion หรือวิธี อื่นๆ อันนี้คงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะทำกันเป็นที่แพร่หลายครับ

การใช้วิธีใดๆ ที่ช่วยให้มอง เห็นชัดในคนสายตาผิดปกติ วิธีที่ปลอดภัย ที่สุดคือการใช้แว่นตาครับ
ส่วนการใช้คอนแท็กเลนส์นั้นจะมีโอกาสเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าใช้ไม่ถูกวิธี เช่น ใส่ค้างคืน บางทีอาจไม่เป็นอะไร แต่บางทีถ้าคุณโชคร้ายมีการติดเชื้อที่กระจกตาดำ (เชื้อที่พบบ่อยคือ Pseudomonas) ถ้าแพทย์ทั่วไปพบผู้ป่วยที่ใช้คอนแท็กเลนส์แล้ว มีแผลที่กระจกตากรุณาส่งต่อพบจักษุแพทย์ทันทีครับ ถ้าช้ามีโอกาสเกิดโศกนาฏกรรมทีเดียว เป็นเรื่องเศร้าที่แก้ไขกันยากเอาการ

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ คือปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้อย่างเคร่งครัดครับ