• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกพรุน

กระดูกพรุน


ปวีณ/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม
 ดิฉันอายุ ๔๐ ปี รับราชการ น้ำหนัก ๕๖ กิโลกรัม ส่วนสูง ๑๗๐ เซนติเมตร ต้องการรู้เรื่องโรคกระดูกพรุน ดังนี้

 ๑. กระดูกพรุน คืออะไร
 ๒. สาเหตุที่ทำให้กระดูกพรุน คืออะไร
 ๓. วัยใดบ้างที่กระดูกพรุน
 ๔. ป้องกันไม่ให้กระดูกพรุนได้อย่างไร จะต้องเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่อายุเท่าใด
 ๕. รู้ตัวว่ากระดูกพรุนควรปฏิบัติตัวเช่นไรจึงจะมีชีวิตที่ปกติสุข
 ๖. การผ่าตัด การกินยา ช่วยแก้ไขโรคกระดูกพรุนได้ไหม
 ๗. ควรบริหารร่างกายอย่างไรในภาวะที่เป็นกระดูกพรุน

 ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ
 

นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์ : ผู้ตอบ

๑. กระดูกพรุน เป็นภาวะที่เนื้อกระดูกมีน้อยลง ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง เป็นสาเหตุให้กระดูกหักง่ายขึ้น

๒. สาเหตุที่ทำให้กระดูกพรุน เกิดจากการสร้างเนื้อกระดูกน้อยกว่าการทำลายเนื้อกระดูก ปกติเนื้อกระดูกคนเราจะสร้างเพิ่มขึ้นมากกว่าการทำลายจากเด็กจะถึงอายุ ๒๐-๓๐ ปี หลังจากนั้นจะมีการทำลายมากกว่าการสร้าง สาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ การขาดฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ซึ่งจะพบในหญิงวัยหมดประจำเดือนและการขาดฮอร์โมนเพศชาย ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกระดูกพรุน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน ได้แก่ การกินแคลเซียมน้อย ได้รับวิตามินดีน้อย (ถูกแสงแดดน้อย) ได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง ๒ ข้าง ได้รับยาสตีรอยด์ (ยาชุด, ยากระจายเส้น) ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มชาหรือกาแฟเป็นประจำ

๓. วัยที่กระดูกพรุน ได้แก่ ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หญิงวัยหมดประจำเดือน กระดูกพรุนจะเกิดได้เร็วขึ้น

๔.  การป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกพรุน ควรเริ่มตั้งแต่เด็ก โดยให้กินอาหารครบหมู่ และได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ อาหารที่มีแคลเซียมมาก ได้แก่ นม ปลาเล็กปลาน้อย (กินทั้งก้าง) กุ้งแห้ง เนื้อเต้าหู้ (น้ำเต้าหู้มีแคลเซียมน้อย) ให้ได้รับแสงแดดทุกวันเพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ดื่มชาหรือกาแฟปริมาณมาก ไม่สูบบุหรี่ และไม่กินอาหารรสเค็มจัด แต่ถ้าท่านเป็นผู้ใหญ่ ก็สามารถเริ่มปฏิบัติดังกล่าวได้ด้วย ยังไม่สายเกินไป

๕. ถ้าท่านเป็นโรคกระดูกพรุน ควรชะลอให้อาการทรุดลงช้าที่สุด โดยปฏิบัติตัวดังกล่าวในข้อ.๔ และควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ เพราะกระดูกจะหักง่ายกว่าคนปกติ เช่น ผู้สูงอายุ ควรระมัดระวังการเดินและการทำงาน ควรปรับสภาพบ้านและที่ทำงานไม่ให้ลื่น พื้นไม่เปียกแฉะ และมีราวสำหรับจับในบางพื้นที่

๖. การผ่าตัด ไม่ช่วยแก้ไขภาวะกระดูกพรุน การกินยาบางชนิดอาจช่วยลดการทำลายเนื้อกระดูกได้ การกินแคลเซียมอาจช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก อย่างไรก็ดีก่อนจะใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะการใช้ยาควรมีข้อบ่งชี้ชัดเจนสำหรับแต่ละคน และต้องระวังอาการแทรกซ้อนจากยา

๗. การบริหารร่างกายที่ได้ประโยชน์ในการป้องกันภาวะกระดูกพรุน ได้แก่ การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน การยกน้ำหนัก การออกกำลังกายที่มีแรงต้าน อย่างไรก็ตาม การทำงานในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้แรงกาย ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีมาก