• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนกัดฟัน

ถาม : กนกรัตน์/นราธิวาส
ดิฉันมีปัญหาของน้องสาวจะขอเรียนปรึกษาค่ะ
น้องอายุ ๑๙ ปี กำลังเรียน อยู่ ปวช. ปี ๑ ปัญหาคือ เวลานอนน้องมักจะนอนกัดฟันเกือบจะทุกคืนเลย
ดิฉันจึงอยากทราบว่า
- การนอนกัดฟันจะมีอันตราย ไหม
- และจะช่วยไม่ให้น้องสาวนอนกัดฟันได้อย่างไร
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะคะ

ตอบ : ทญ.จันทร์เพ็ญ เบญจกุล
การนอนกัดฟัน (Bruxism) คือ การขบเคี้ยวฟันที่ไม่ใช่การทำงานตามหน้าที่ที่ถูกต้อง อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ หรืออาจเกิดขึ้นได้ในเวลากลางวัน ขณะที่นั่งทำงานเผลอๆ หรือในขณะที่มีความเครียด

การใช้ฟันขบเขี้ยวเคี้ยวกันในเวลาที่ไม่ได้กินอาหาร เชื่อว่าเป็นการ ทำงานที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น และไม่เกิดผลดีใดๆ มีแต่ผลเสียต่างๆ ดังนี้
๑. กล้ามเนื้อทำงานมากกว่าปกติ
๒. ฟันสึก
๓. อาจทำให้ปวดที่ข้อต่อขากรรไกรได้

สาเหตุที่สำคัญ เช่น
ก. อาจมีสิ่งกีดขวางการทำงาน ของฟันในขณะบดเคี้ยว สิ่งกีดขวางเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกัดฟันหรือขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขึ้น นอก จากสิ่งกีดขวางการบดเคี้ยวแล้ว อาจเกิดจากโรคปริทันต์ที่มีการเจ็บปวดพื้นผิวของริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เป็นต้น
วิธีแก้ไข พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสภาพการทำงานของฟันขณะบดเคี้ยว เมื่อทันตแพทย์ปรับการ สบของฟันให้ถูกต้องแล้ว การนอนกัดฟันอาจจะลดน้อยลงหรือหายไป หรือทันตแพทย์จะต้องแก้ไขโรค ปริทันต์ พื้นผิวของริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ที่มีการระคายเคืองออกให้หมด จะช่วยลดการนอนกัดฟันได้
ข. ความเครียดทางจิตใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันได้ในขณะที่อยู่เฉยๆ หรืออาจจะ เกิดในขณะนอนหลับได้ ความเครียด ทางจิตใจที่เกิดจากการข่มระงับ อารมณ์ไว้ ไม่ให้แสดงความก้าวร้าว ดุดัน อารมณ์เคร่งเครียดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการนอนกัดฟัน
วิธีแก้ไข แก้สาเหตุของความ เครียด แต่ในขณะที่ยังแก้สาเหตุความเครียดไม่ได้ ให้พบทันตแพทย์เพื่อทำเครื่องมือไปใช้ใส่ขณะนอน เพื่อป้องกันไม่ให้กัดลงบนฟันแต่ให้กัดลงบนเครื่องมือแทน ฟันจะได้ไม่สึก

นอกจากนั้น การใส่เครื่องมือนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยหรือความเคยชินในการขบเขี้ยวเคี้ยวลักษณะเดิมได้ ซึ่งต่อไปสักระยะหนึ่งจะทำให้เลิกนอนกัดฟันได้