• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษาต้อหิน

ถาม : นภาพร/ชัยภูมิ
ดิฉันมีปัญหาของคุณย่าจะขอ เรียนปรึกษาคุณหมอคะ คือคุณย่าของดิฉันอายุ ๖๕ ปี เป็นโรคเบาหวาน และโดนตัดขาซ้ายไปแล้ว ๑ ข้างแล้ว และตาข้างขวาบอด แต่ปัญหาที่เป็น อยู่ตอนนี้คือ ตาข้างซ้ายกำลังจะบอด (คุณหมอบอกว่าเป็นต้อหิน)
ดิฉันจึงอยากทราบว่า ตาข้างซ้ายที่เป็นต้อหินแต่ยังไม่บอดจะมีทางรักษาให้หายได้หรือไม่คะ
คุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

ตอบ : พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
ต้อหินเป็นโรคซึ่งถ้าถึงระยะสุดท้ายแล้วไม่มีทางรักษา เพราะประสาทตาจะถูกทำลายไปหมด แม้แต่การเปลี่ยนดวงตาก็ไม่ได้ผล เป็นโรคซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยพบได้ในตาทั้ง ๒ ข้าง แต่อาจจะรุนแรงต่างกัน ดังในกรณีของคุณย่าของคุณที่ตาข้างหนึ่งเสียไปแล้ว อีกข้างที่คุณบอกว่ากำลังจะเสียก็คงจะเป็นต้อหินด้วย และเป็นในระยะที่ค่อนข้างรุนแรง

ต้อหินในคนสูงอายุชนิดไม่ทราบสาเหตุ หรือไม่มีโรคอื่นที่เป็น ต้นเหตุพบได้ ๒ ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลันมักมีอาการปวด ในกรณีของคุณย่าคุณคงเป็นชนิดเรื้อรัง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน และมีโอกาสถ่ายทอดทาง พันธุกรรม กล่าวคือ เมื่อคนสูงอายุขึ้น มีโอกาสจะเป็นต้อหินได้มากกว่าคนปกติ
ต้อหินเกิดจากการไหลเวียนของน้ำในลูกตาติดขัด เกิดการคั่งของน้ำภายในตา คลำดูจะรู้สึกว่าตาแข็งเหมือนหิน มิได้หมายความว่ามีหินอยู่ในตาแต่อย่างใด

การรักษาต้อหินชนิดเรื้อรัง ได้แก่ การหยอดยาไปตลอดชีวิต หากยาไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไม่สา-มารถหยอดยาได้ จึงค่อยพิจารณาให้ผ่าตัด (การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ในบางรายพอช่วยได้ บางรายก็ไม่ได้ผล) หากก่อนการรักษาสายตาเหลือเท่าไร ก็จะอยู่อย่างนั้นไม่ดีขึ้น ซึ่งต่างกับต้อกระจกอย่างมาก (ต้อกระจกนั้นผ่าตัดแล้วสายตาจะกลับมาดีเหมือนเดิม)

การรักษาต้อหินจึงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอย่างมากที่จะต้องปฏิบัติตาม คือหยอดยาตามแพทย์สั่งและมารับการตรวจเป็นระยะๆ เพราะถ้ายาตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ผลแพทย์จะได้เปลี่ยนยาหรือพิจารณาผ่าตัดให้ การผ่าตัดก็ไม่ได้หมายความว่าตาจะเห็นดีขึ้นได้ แต่ทำเพื่อมิให้อาการเลวลงไปกว่าเดิม
สำหรับการป้องกันตาข้างที่เหลือ ได้แก่ หยอดตาและรับการตรวจเป็นระยะๆ ดังที่กล่าวข้างต้น