• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลัวผลข้างเคียง การกินยามาก

กลัวผลข้างเคียง การกินยามาก


ผู้ถาม บุญสุข/กรุงเทพฯ
การกินยาหลายๆชนิด พร้อมๆกัน จะมีผลข้างเคียงหรือเกิดผลร้ายอะไรตามมาหรือไม่
 
ผมมีเรื่องจะขอเรียนปรึกษาคุณหมอดังนี้ครับ คือ ภรรยาผมอายุ ๖๗ ปี เมื่อประมาณปี ๒๕๓๔ เธอประกอบอาชีพขายผลไม้ พอผลไม้เหลือก็กินจนเกินขนาด คือทุเรียน เกิดความดันเลือดสูง หลอดเลือดฝอยแตก ผมและลูกๆนำส่งโรงพยาบาล หมอผ่าตัดสมองช่วยชีวิตไว้ จึงรอดตาย แต่ก็ไม่สมประกอบ ขาข้างขวาไม่มีแรง และต้องกินยาแก้ความ ดันเลือดสูงตลอดมา คือ Baypress และ Betaloc เป็นประจำ

ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๑ ภรรยาผมเกิดมีอาการเหนื่อย และเจ็บในทรวงอกอย่างรุนแรงมาก ผมเลยพาไปพบหมอตรวจอาการทราบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ๓ คืน หมออนุญาตให้กลับบ้านมากินยาที่บ้าน หมอให้ยามากินประจำมากเหลือเกินครับ กินอยู่ ๓ เดือน อาการเหนื่อยและเจ็บในอกหายดีครับ แต่ต้องไปตรวจทุกๆเดือน ยาที่คุณหมอให้ภรรยาผมกินมี ดังนี้ครับ

๑. Sorbitrate  ๒๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒ เม็ด ก่อนอาหาร ๓ เวลา

๒. Aspent-M ครั้งละ ๑ เม็ด หลังอาหารเช้า

๓. Betaloc ๑๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละครึ่งเม็ด หลังอาหารเช้า-เย็น

๔. Cardil ๑๒๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๑ ครั้ง ก่อนนอน

๕. Lorazene ๐.๕ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๑ ครั้ง ก่อนนอน

๖. Mevalotin ๕ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๑ ครั้ง ก่อนนอน

๗. Senokot ครั้งละ ๒ เม็ด วันละ ๑ ครั้ง ก่อนนอน (ยาระบาย)

ผมจึงขอความกรุณาคุณหมอช่วยอธิบายด้วยว่า ถ้ากินยาเหล่านี้ไปเรื่อยๆจะมีผลข้างเคียงหรือเกิดผลร้ายอะไรตามมาหรือไม่ แต่ปัจจุบันที่กินอยู่นี่ก็รู้สึกว่าอาการของภรรยาผมจะดีขึ้นมาก หน้าตาสดใส ช่วยตัวเองได้มาก

ผู้ตอบ นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

ยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ความดันเลือดสูง หลายๆตัว มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ครับ แต่พบได้น้อย ไม่ว่าจะกินมานานเท่าใด แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นใน ๑-๒ เดือนแรกที่ได้รับยาหรือร่วมกับยาอื่นๆ ยาเหล่านี้มักจะถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระ (โดยผ่านทางตับ) หรือปัสสาวะ (โดยผ่านทางไต) ดังนั้นถ้าการทำงานของตับและไตผิดปกติ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุอาจมีการทำงานของไตลดลง อาจจะทำให้ตัวยาในร่างกายมากขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงได้ แต่คุณไม่ต้องกังวลนะครับว่า กินยาไปนานๆแล้วจะสะสมในร่างกายจนเกิดเป็นพิษหรือผลข้างเคียงร้ายแรงตามมา เพราะยาเหล่านี้ถูกขับถ่ายออกจากร่างกายตลอดเวลา เราจึงต้องกินยาเป็นประจำ ผมขออธิบายยาที่ภรรยาคุณกินอยู่ทีละตัว ดังนี้

  • ยา Isosorbide dinitrate  (ชื่อการค้า Sorbitrate) เป็นยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ใช้เพื่อลดอาการเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือหดตัว ผลข้างเคียง อาจเกิดอาการปวดศีรษะ ความดันเลือดต่ำ (ซึ่งอาจเป็นผลดีกับภรรยาคุณ เพราะความดันเลือดสูงอยู่แล้ว) ยานี้เป็นยาบรรเทาอาการ ดังนั้นจึงเพิ่มหรือลดยาได้ตามอาการ
     
  • ยา Aspirin (ชื่อการค้า As-pent-M) เป็นยาต้านเกล็ดเลือด ไม่ให้เลือดแข็งตัวอุดตันหลอดเลือดใช้ป้องกันหลอดเลือดตีบตัน ผลข้างเคียง อาจเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร ดังนั้นถ้ามีถ่ายอุจจาระเป็นสีดำสนิท (เหมือนเฉาก๊วย) ให้รีบไปพบแพทย์ ยานี้ควรกินไปตลอด เพราะเป็นยาป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นมากขึ้น
     
  • ยา Metoprolol (ชื่อการค้า Betaloc) เป็นยาใช้รักษาความดันเลือดสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ ผลข้างเคียง อาจทำให้อ่อนเพลีย หรือลดความรู้สึกทางเพศได้ ยานี้ควรกินไปตลอดเพื่อคุมความดันเลือด และลดอาการเจ็บหน้าอก
     
  • ยา Diltiazem (ชื่อการค้า Cardil) เป็นยาขยายหลอดเลือดแดง ใช้รักษาความดันเลือดสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ผลข้างเคียง อาจทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บวมเท้า ยานี้ควรกินไปตลอดเพื่อลดความดันเลือด
     
  • ยา Lorazepam (ชื่อการค้า Lorapam) เป็นยาคลายเครียด คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับ ผลข้างเคียง ถ้ากินเวลากลางวันจะง่วงนอน หรือตาลายได้ ยานี้ป็นยารักษาตามอาการ ไม่ควรกินตลอดไป เพราะจะติดยา คือนอนไม่หลับถ้าไม่ได้กินยา
     
  • ยา Pravastatin (ชื่อการค้า Mevalotin) เป็นยาลดไขมันในเลือด เพื่อป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากขึ้น ผลข้างเคียง อาจเกิดอาการระคายเคืองกระเพาะ ปวด เมื่อยกล้ามเนื้อ หรือการทำงานของตับผิดปกติ ดังนั้นอาจจำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับและกล้ามเนื้อ หลังจากได้ยา ถ้าคุมไขมันในเลือดได้โดยการคุมอาหารและออกกำลังกาย จะสามารถลดหรือหยุดยานี้ได้
     
  • ยา Sennoside (ชื่อการค้า Senokot) เป็นยาระบาย ผลข้างเคียงอาจทำให้ปวดมวนท้องหรือท้องเสีย เป็นยารักษาตามอาการ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตีบตันเบ่งอุจจาระ เพราะจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก และหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นได้ ถ้าไม่ได้เบ่งอุจจาระและกินผักผลไม้มากๆ แล้วไม่ท้องผูก ก็ไม่จำเป็นต้องกินยา

การที่ภรรยาคุณเกิดความดันเลือดสูง หลอดเลือดฝอยแตก และหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ผมถือว่านั่นเป็นสัญญาณเตือนภัยสำคัญที่ร่างกายเราบอกให้เจ้าของทราบว่า ที่ผ่านมามีการกินอยู่ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต อาจจะเกิดผลเสียร้ายแรงตามมาอีกได้ การรักษาที่ได้อยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ กล่าวคือ เจ็บหน้าอกก็ให้ยาขยายหลอดเลือด ความดันเลือดสูงก็ให้ยาลดความดัน ซึ่งเป็นการรักษาปลายเหตุ ต้นเหตุของโรคทั้ง ๓ ที่ภรรยาคุณเป็นนั้นเกิดจากการกินอยู่ เช่น กินอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด ความกังวล เป็นต้น การเปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารแนวชีวจิต ร่วมกับการออกกำลังกาย ทำสมาธิ น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้อาการดีขึ้น และการป้องกันไม่ให้โรคหัวใจเป็นมากขึ้น ทำให้ยาที่ต้องกินลดน้อยลง ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากยาก็ลดลงตามไปด้วยครับ