• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สะโพกเคลื่อน

สะโพกเคลื่อน


ผู้ถาม สุธิดา /สุราษฎร์ธานี
ขาข้างขวาตรงข้อต่อสะโพกเคลื่อนมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวนี้เวลากลางคืนจะปวดมาก ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

ขาข้างขวาตรงบริเวณข้อต่อสะโพกของดิฉันเคลื่อนมาตั้งแต่เข้าเรียนชั้น ป.๑ เรื่องมีอยู่ว่าดิฉันได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนแล้วเกิดหกล้ม แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก จนกระทั่งเมื่อจบชั้น  ป.๖ ก็ได้ออกจากโรงเรียนและทำงานในสวน ก็มีอาการปวดเมื่อยบ้าง แต่ก็พอทนได้ เพราะส่วนมากที่ปวด ก็ไม่ได้กังวลอะไร และก็ทำงานทุกอย่างเหมือนคนอื่นทุกอย่าง ก็เรียกว่าหนักนะคะ แต่ตอนนี้ก็ได้หยุดทำมาประมาณ ๓-๔ ปีแล้ว แต่ก็ยังมีทำบ้าง เช่น ถางป่ายาง เดินเก็บน้ำยางที่พื้นเป็นลูกคลื่น จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม รู้สึกว่าจะปวดมากกว่าปกติ และยิ่งถ้าเป็นเวลากลางคืนแล้วอากาศเย็นจะปวดตามข้อมาก ดิฉันจึงขอเรียนปรึกษาคุณหมอดังนี้ค่ะ

๑. คือถ้าต่อไปอายุมากกว่านี้จะปวดมากไหม และจะเดินได้ดีกว่าเดิมหรือเปล่า

๒. การออกกำลังกายท่าที่เหมาะกับคนที่ปวดเมื่อยอย่างนี้มีไหม

๓. อย่างดิฉันจะเป็นโรค รูมาติกไหม และ การนวดโดยการ ใช้ยาร้อน เช่น พวกน้ำมันร้อน จะเป็นอันตรายอะไรไหม

ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ


ผู้ตอบ นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงษ์

จากประวัติที่คุณเล่ามาโดยไม่ได้ตรวจร่างกาย ทำให้ไม่แน่ใจว่าพยาธิสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในกรณีนี้ผมคิดว่าถ้าได้ตรวจร่างกาย จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แน่นอนและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง ส่วนปัญหาที่ปรึกษามาขอตอบดังนี้

๑. คิดว่าเมื่ออายุมากขึ้น น่าจะปวดมากขึ้นและเดินไม่ดีเท่าเดิม เพราะเมื่อเกิดความผิดปกติที่ข้อสะโพกมาแต่เด็ก จะทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติไปด้วย และกล้ามเนื้อต่างๆรอบๆข้อก็จะเสีย ความแข็งแรงและเสียความสมดุล เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดการเสื่อมของกระดูกและข้อเพิ่มขึ้น

๒. การออกกำลังกายที่เหมาะสม ควรให้มีการเคลื่อนไหวของข้อและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รอบๆข้อ โดยหลีกเลี่ยงแรงกระแทกที่ข้อโดยตรง ในเบื้องต้นผมอยากแนะนำให้ออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน ทำกายบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกในท่านอน เช่น นอนหงายแล้วยกเท้าปั่นจักรยานในอากาศ หากวินิจฉัยได้แน่นอนว่า พยาธิสภาพที่ข้อสะโพกเป็นอย่างไร ก็จะสามารถแนะนำท่าการออกกำลังกายที่เหมาะสม เป็นการเฉพาะได้

๓. คุณไม่ได้เป็นโรครูมาติก การนวดโดยใช้ยาร้อน เช่น น้ำมันร้อนจะได้ประโยชน์ โดยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว หลอดเลือดฝอยขยายตัว ทำให้เลือดมาเลี้ยงเนื้อเยื่อดีขึ้น และบรรเทาอาการปวดได้ ข้อควรระวังอย่าให้ร้อนเกินไป หรือถูนวดแรงๆ เพราะจะทำให้ปวดแสบปวดร้อนและผิวหนังไหม้ได้ รวมทั้งไม่ควรใช้ยาร้อนนวดถ้าอยู่ในภาวะกำลังอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน ในภาวะเช่นนี้ ควรประคบด้วยความเย็นจะได้ผลดีกว่า

โดยสรุปอยากแนะนำให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เพราะอาจจะผ่าตัดแก้ไขได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก