• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหัวใจ ประเภทหลอดเลือดตีบ

โรคหัวใจ ประเภทหลอดเลือดตีบ

ผู้ถาม คุณลักษมี/อุบลราชธานี
คุณพ่อเป็นโรคหัวใจประเภทหลอดเลือดตีบ กินยาแล้วมึนศีรษะมาก ไม่ทราบว่าเกี่ยวกันหรือเปล่า

คุณพ่อดิฉันอายุ ๗๔ ปี เป็นโรคหัวใจประเภทหลอดเลือดตีบ กินยาฝรั่งมาหลายปีแล้ว ช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา พ่อจะปวดหัวหรือมึนหัวตลอดเวลา ทางโรงพยาบาลให้ยาดังนี้

๑. ยา Herbesser 
๒. ยา digoxin
๓. ยาเบบี้แอสไพริน 
๔. ยาอมใต้ลิ้น 
๕. ยา Lopid

รายการที่ ๑-๓ กินทุกเช้า รายการที่ ๑ กินตอนเย็นด้วย พ่อเป็นโรคเกาต์ด้วย และพ่อออกกำลังกายด้วยการเดินรอบบ้าน ประมาณ ๕-๑๐ นาทีเท่านั้น บอกว่าเหนื่อย บางครั้งจะแน่นหน้าอก พ่อจะนอนหลังอาหารในช่วงเช้าไปถึงเที่ยง ทานอาหารเที่ยง แล้วจะมานั่ง หรือเดินเล็กน้อย และนอนถึงราวบ่าย ๓ โมง กินอาหารว่าง นั่งพัก เย็นเดินออกกำลังกาย ๕-๑๐ นาที กินอาหารเย็น และ เข้านอนตอน ๒ ทุ่ม จะมาหลับตอนห้าทุ่มทุกวัน บางคืนไม่หลับ จะมียานอนหลับอีก ๑ ตัว

๑. จะทำอย่างไรให้พ่อหายปวดหัว หรือพ้นจากอาการมึนศีรษะ และคนที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ จะปวดหัวทุกคนหรือไม่ เป็นเพราะยาฝรั่งหรือเปล่า

๓. มีท่านวดหรือออกกำลังกายสำหรับพ่อหรือไม่

๔. อาหารที่กินควรเป็นอย่างไร (ช่วงนี้รู้สึกจะชอบกินแต่ของหวาน จนต้องกินยาลดไขมัน) 

ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ


ผู้ตอบ นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

ผมเข้าใจว่า คุณพ่อของคุณเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว เช่น เวลาออกกำลังกาย หรือยกของหนัก การกินยาฝรั่งส่วนหนึ่งเป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ก็อมยาใต้ลิ้นและกินยา diltiazem (ชื่อการค้า คือ Herbesser) เพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจ ส่วนยา digoxin นั้น คิดว่าคงใช้รักษาการเต้นของหัวใจผิดปกติ (atria fibrillation) เพื่อควบคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป  มิฉะนั้นอาจมีอาการเจ็บหน้าอกหรือหัวใจล้มเหลวขึ้นได้ ส่วนการให้ยาเพื่อป้องกันการลุกลามของโรคก็มียา gemfibrozil (ชื่อการค้าคือ Lopid) เป็นยาลดไขมันในเลือด และยาเบบี้แอสไพริน เป็นยาต้านเกล็ดเลือด ป้องกันเกล็ดเลือดเกาะรวมกลุ่มกันจนเป็นลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจ

จะเห็นได้ว่า การกินยาฝรั่งมีทั้งการรักษา( คือ การลดการตีบของหลอดเลือด ป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น) และการประคองโรค ( คือ รักษาตามอาการ) ด้วย แต่ถ้าสามารถรักษาที่ต้นเหตุโรคหัวใจหลอดเลือด คือ การกินการอยู่ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมอย่างฝรั่ง เราก็จะใช้ยาฝรั่งน้อยลง เช่น การปรับเปลี่ยนมากินอยู่อย่างไทย กินอาหารที่มีไขมันต่ำ พวกผักผลไม้เป็นหลัก ก็ทำให้ไม่ต้องใช้ยาลดไขมัน อาการเจ็บหน้าอกก็จะน้อยลง ก็จะลดการใช้ยาอมใต้ลิ้นลงได้

ผมขอตอบคำถามคุณเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

๑. คนที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบไม่ปวดหัวทุกคนครับ อาการปวดหัวที่เกิดร่วมกับโรคหัวใจหลอดเลือดที่พบบ่อย มักเกิดจากโรคความดันเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากยาขยายหลอดเลือด(รวมทั้งยาอมใต้ลิ้น) เพราะยาจะขยายหลอดเลือดในสมองด้วย ทำให้ปวดหัวได้ แต่มักจะเป็นไม่นานหลังกินยา หยุดยาก็จะหายไป ยาอื่นที่คุณพ่อคุณกินอยู่ก็ไม่ น่าทำให้ปวดหัวครับ ส่วนจะทำอย่างไรให้คุณพ่อหายปวดหัวมึนหัว คงขึ้นกับสาเหตุ ผมคิดว่าสาเหตุที่เป็นไปได้อย่างหนึ่ง คือ การนอนหลับครับ พวกเราส่วนใหญ่คงเคยมีประสบการณ์นอนหลับและตื่นขึ้นในเวลากลางวัน โดยเฉพาะตอนอากาศร้อนๆ จะรู้สึกเวียนหัวปวดหัวได้ แพทย์พยาบาลที่อยู่เวรกลางคืน แล้วมานอนตอนกลางวัน ก็จะเกิดอาการแบบเดียวกัน การนอนมากเกินไปก็ทำให้มึนงงได้เหมือนกัน คุณพ่อคุณนอนวันหนึ่งผมนับดูแล้วไม่ต่ำกว่า ๘ ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าคนสูงอายุทั่วไปประมาณ ๒-๔ ชั่วโมง ประกอบกับการกินยานอนหลับ ซึ่งในผู้สูงอายุอาจจะ มีการขับถ่ายยาช้ากว่าปกติ ยาจะอยู่ในร่างกายนานทำให้ง่วงนอน

ทั้งวัน คุณลองปรับเปลี่ยนการนอนหลับของคุณพ่อดูซิครับ พยายามหางานอดิเรกให้คุณพ่อทำทั้งเช้าทั้ง บ่าย เข้านอนซักสี่ห้าทุ่ม พยายามหลีกเลี่ยงยานอนหลับ น้ำชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และถ้าตอนบ่ายหลังอาหารเที่ยงง่วงนอนมากก็นอนซักครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงจะดีกว่านอนตลอดบ่าย แล้วนอนไม่หลับตอนกลางคืน ถ้าลองปรับเรื่องการนอนหลับไม่ได้ผล คงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีสาเหตุอื่น  เช่น สายตา ไซนัสอักเสบ ไมเกรน เป็นต้น ที่ทำให้ปวดหัวเรื้อรังหรือไม่



๒. ผมไม่มีความรู้เรื่องท่านวด สำหรับอาการปวดหัวหรือสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจตีบตัน แต่สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับ ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคหัวใจตีบตัน คือ การเดิน เดินธรรมดาตามปกติแบบที่เดินกันอยู่ทุกวัน เพียงแต่ค่อยๆเพิ่มเวลาการเดินให้นานขึ้น ตามแต่กำลังและอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องหักโหมหรือกำหนดแน่นอนว่าจะต้องเดินเท่านี้เท่านั้นทุกวัน เพียงแต่พยายามเดินทุกครั้งที่มีโอกาส ถ้ามีอาการเหนื่อยหรือแน่นหน้าอกขณะเดิน ควรจะนั่งพัก อาการเหนื่อยหรือแน่นหน้าอกก็ จะหายไปภายใน ๕-๑๐ นาที ถ้าไม่หาย ควรอมยาขยายหลอดเลือดใต้ลิ้น ๑ เม็ด อาการก็จะดีขึ้นใน ๕ นาที ถ้าไม่ดีขึ้น อมอีก ๑ เม็ด รออีก ๕-๑๐ นาที ไม่ดีขึ้น ควรจะไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพราะนั่นอาจแสดงว่า หลอดเลือดหัวใจตีบตัน จะต้องเปิดหลอดเลือดที่ตันโดยยาหรือบัลลูน เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจตาย เพราะฉะนั้นควรต้องมียาอมหรือยาพ่นใต้ลิ้นติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการทดสอบดูว่า เมื่อไรจะต้องไปโรงพยาบาล

๓. อาหารไทยเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน คนไทยโบราณเราสอนกันมาให้ "กินข้าว(กล้อง)กินปลา" "กินผักกินปลา" กินส้มตำ กินน้ำพริกปลาทู เพราะเป็นอาหารที่เหมาะกับคนไทยทั่วไป ไม่เคยสอนให้กินขาหมู หนังเป็ด หนังไก่ เครื่องในสัตว์ ส่วนคนไทยสมัยนี้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็ต้องคุมอาหาร ไขมันมากขึ้นไปกว่านั้น เพื่อรักษาและป้องกันการลุกลามของโรค คือ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ น้ำมัน มะพร้าว น้ำมันปาล์ม (ของทอดๆที่ขายในท้องตลาดทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันปาล์ม เพราะราคาถูก) และ น้ำมันจากสัตว์ หลีกเลี่ยงอาหารจากสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หอยนางรม กุ้ง ไข่แดง เป็นต้น ส่วนของหวานควรกินผลไม้จะดีกว่าครับ โดยเฉพาะขนมไทยที่ดัดแปลงมาจากฝรั่งที่หวานจัดและทำจากไข่แดง เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง หรือขนมหวานฝรั่งที่มันเนยมาก เช่น คุกกี้ ขนมเค็ก ไอศกรีม ควรหลีกเลี่ยง

สรุป คือ ควรกินอาหารที่มาจากพืช คือ ผัก ผลไม้ เมล็ดพืช เช่น ข้าว ถั่ว งา ยกเว้นมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ลดอาหารที่มาจากสัตว์โดยเฉพาะที่มีไขมันสูง (ถ้ากินมังสวิรัติ หรืออาหารแนวธรรมชาติ ได้ก็จะดีมากครับ) ตัวอย่างเช่น แทนที่จะกินข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ทอด ข้าวหมูกรอบ ก็กินก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ หรือขนมจีนน้ำยาปลา ข้าวเหนียวส้มตำแทน เป็นต้น นอกจากนี้ไม่ควรกินอิ่มเต็มร้อยทุกมื้อ ให้กินประมาณร้อยละ ๗๐ ก็พอแล้ว ถ้าระหว่างมื้อหิว ก็กินผลไม้ ถั่วต้ม ข้าวโพดต้ม งาดำ เป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ครับ