• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลิ้นขาด (ขาดลิ้น)

ถาม : ทูน/ชลบุรี
กรณีข่าวที่ชายคนหนึ่งถูกกัดลิ้นขาด นั่งร้องห่มร้องไห้ เพราะไม่สามารถต่อได้อีก
จึงขอเรียนถามว่า
- ลิ้นของคนเรานั้นมีความสำคัญอย่างไร
- และมีโรคอะไรบ้างที่เกิดได้กับลิ้น
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยให้ ความกระจ่างด้วยนะครับ

ตอบ : นพ.สาทิตย์ ชัยประสิทธิกุล
ลิ้นของคนเรา นอกจากเป็นอวัยวะรับรสแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญอีก หลายอย่าง เช่น ช่วยให้พูดได้ชัดทุกคำ ช่วยในการกลืน ช่วยในการเคี้ยว และช่วยทำความสะอาดช่องปาก คนโบราณใช้วิธีดูลักษณะผิดปกติของลิ้น ทำนายโรคของร่างกาย
รสกับกลิ่นเป็นการรับรู้ที่ควบคู่ กันไปในการกินอาหาร การจะชอบหรือไม่ชอบขึ้นกับสัญชาตญาณความ เคยชินและประสบการณ์
รสชาติหลักหรือแม่รส (primary taste) ที่มนุษย์รับได้แบ่งออกเป็น ๔ รส คือ หวาน เปรี้ยว เค็ม และขม แต่ถ้าแบ่งแบบญี่ปุ่นจะเพิ่มรสผงชูรส (umami) มาด้วย โดยลิ้นจะมีปุ่มรับรส (taste bud) จุดรับรสแบ่งพื้นที่โดยปลายลิ้นรับรสหวาน ส่วนข้างของลิ้น รับรสเปรี้ยว ส่วนกลางลิ้นรับรสเค็ม และส่วนโคนลิ้นรับรสขม
ปุ่มรับรสหนึ่งปุ่มอาจรับได้หลายรส แต่จะไวเป็นพิเศษต่อรสใดรสหนึ่งเท่านั้น ส่วนรสอื่นๆ เกิดจากความรู้สึกผสมผสานของแม่รสทั้ง ๔ คล้ายการผสมแม่สี ๓ สีออกเป็นสีอื่นๆ มากมาย
ปุ่มรับรสที่อยู่บนลิ้นมีมากมาย ถึงประมาณ ๓,๗๐๐ ปุ่ม จากจำนวน จุดรับรส (taste receptor) ทั้งหมด ๗,๙๐๐ จุดในช่องปาก โดยจุดรับรสที่เหลือไม่มีลักษณะเป็นปุ่ม แต่จะราบเรียบกระจายอยู่ทั่วไปที่โคนลิ้น คอหอย เพดานปาก และกระพุ้ง-แก้ม ทุก ๗-๑๔ วัน เซลล์รับรสจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทนเซลล์เก่าที่ตายไป ดังนั้น เมื่อกินอาหารร้อนจัดลิ้นพอง ซึ่งทำให้เซลล์ตาย ลิ้นจะชาไม่รับรู้รสอยู่หลายวันจนถึงรอบที่เซลล์ใหม่มาแทนที่
ในคนที่อายุเกิน ๔๕ ปี ปุ่มรับรสจำนวนหนึ่งจะเริ่มเสื่อมสลายทำให้การรับรสลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น
ดังนั้น มักจะได้ยินผู้สูงอายุบ่นเสมอว่ากินอาหารไม่อร่อยเท่าตอนที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว
ลิ้นเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้ออันละเอียดอ่อน สามารถเคลื่อนไหวได้ทุกทิศทาง ผิวของลิ้นจะขรุขระ มีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ คล้ายขนสากๆ จำนวนมาก ซึ่งก็คือปุ่มรับรส โดยปกติผิวของลิ้นจะเปียก ชุ่มชื้น
ลิ้นของเด็กทารกจะมีสีแดงหรือสีชมพูอ่อนๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นปุ่มรับรสจะค่อยๆ โตขึ้นและอยู่ค่อนไปทางโคนลิ้น ขอบลิ้นและผิวใต้ลิ้นจะแดงกว่าส่วนอื่นๆ บางคนอาจมีรอยแตกที่ผิวลิ้น และจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ

ลิ้นเป็นฝ้า
ลิ้นอาจมีความผิดปกติ ที่พบเสมอคือลิ้นเป็นฝ้าขาว ปกติที่ลิ้น อาจมีฝ้าขาวบางๆ อยู่กลางลิ้นได้  เกิดจากเศษเซลล์ที่หลุดลอกคล้าย ขี้ไคลที่ผิวหนังมาติดอยู่บริเวณร่อง        ที่ขรุขระของลิ้น รวมกับเศษอาหาร
และแบคทีเรียต่างๆ ในปาก ถ้าฝ้าขาวมีมากขึ้นมักเป็นผลมาจากภาวะ อื่นซึ่งไม่ใช่โรคของลิ้น เช่น เวลา   คัดจมูกแล้วอ้าปากเพื่อหายใจทางปาก ทำให้ลิ้นแห้ง ขาดการชะล้างจากน้ำลายจึงเกิดฝ้าขึ้น การนอนกรน ภาวะขาดน้ำจากการเจ็บป่วยเป็นไข้ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ลิ้นแห้ง นอกจากนี้การที่ท้องผูกบ่อยๆ อาหารไม่ย่อย ดื่มสุรามาก      สูบบุหรี่จัด นอนดึก โรคของถุงน้ำดี และโรคระบบทางเดินอาหารก็ทำให้ลิ้นเป็นฝ้าได้ ดังนั้น ลิ้นเป็นฝ้าขาวจึงไม่ได้บ่งบอก ถึงภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยจำเพาะ แม้แต่คนปกติก็อาจพบลิ้นเป็นฝ้าได้
ฝ้าที่ลิ้น อาจมีสีที่เป็นผลมาจากอาหารและเครื่องดื่มมาติด เช่น สีน้ำตาลแก่จากการดื่มกาแฟ หรือ สีดำของยาอมสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น
ฝ้าขาวในเด็ก อาจเป็นผลจาก เชื้อราที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว คนโบราณมียากวาดลิ้นที่ได้ผลดีอยู่แล้ว

ลิ้นดำ
อาจเกิดจากเชื้อราของลิ้น โดยเฉพาะในคนที่ชอบอมยาอมฆ่าเชื้ออยู่เป็นประจำ

ลิ้นเลี่ยนแดงเป็นมัน
พบในภาวะเลือดจาง โรคเลือด ขาดอาหาร กระเพาะอาหารมีกรดน้อย บางรายอาจเป็นร่วมกับอาการแสบลิ้นบ่อยๆ มักพบในผู้ที่ป่วยเรื้อรัง เช่น อาหารไม่ย่อยเรื้อรัง โรคไต โรคตับ เบาหวาน เป็นต้น

ลิ้นเป็นแผล ลิ้นอักเสบ
แผลที่ลิ้น ถ้าเป็นที่ขอบลิ้นด้านข้าง ร่วมกับบวมแสบๆ เป็นๆ หายๆ มักเกิดจากฟันกรามถูไถกับลิ้น ขอบฟันที่คม ฟันที่บิ่นหักไปบางส่วน ฟันปลอมที่หลวม อาจกดขอบลิ้นให้เป็นแผลได้ คนที่นอนกัดฟันเป็นประจำ หรือเป็นโรคลมชัก อาจมีแผลที่ขอบลิ้นบ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว
บริเวณช่วงกลางลิ้น อาจอักเสบแดงเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลาม ตัด เป็นๆ หายๆ ได้บ่อย โดยไม่ทราบ สาเหตุ เช่นเดียวกับลิ้นบางคนมีลาย คล้ายแผนที่เป็นๆ หายๆ ก็เชื่อว่าเป็น การอักเสบอย่างไม่เฉพาะเจาะจง มักพบได้บ่อยในคนที่คัดจมูกเรื้อรัง หรือเป็นโรคภูมิแพ้
แผลเรื้อรังที่ลิ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งเสมอไป อาจเกิดจากการติดเชื้อวัณโรค ซิฟิลิส โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติบางชนิด แต่มะเร็งที่ลิ้นก็พบได้ไม่น้อยเช่นกัน ควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ จะปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะคุณป้าที่เคี้ยวหมาก และคุณลุงที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
โคนลิ้นจะมีปุ่มรับรสห่างๆ และจะนูนหนากว่าบริเวณด้านหน้า ซึ่งเป็นภาวะปกติ แต่ถ้ามีตุ่มนูนกว่าปกติตรงโคนลิ้นพอดีอาจพบได้ในบางคน เป็นความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิดจากการมีเนื้อเยื่อไทรอยด์มาอยู่ผิดที่ บางคนอาจมีตุ่มใหญ่อยู่ ๒ ข้างที่โคนลิ้น และทุกครั้งที่มีทอนซิลอักเสบก็จะมีการอักเสบตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นภาวะปกติเช่น

ลิ้นติด
บริเวณใต้ลิ้นตรงแนวกลางจะมีพังผืดยึดตัวลิ้นกับพื้นที่ช่องปากเอาไว้ ถ้ามีการยึดติดเอาไว้มากเกินไปจนทำให้ลิ้นขยับได้น้อยกว่าปกติ ปลายลิ้นไม่สามารถแตะขอบเพดาน ปากได้ ทำให้พูดไม่ชัด เรียกว่า "ลิ้นติด" (togue tie) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
ลิ้นเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ควรต้องระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุและอย่านำไปใช้ในทางที่ผิด