• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลดีและผลเสียของการกินยาแอสไพริน

ผลดีและผลเสียของการกินยาแอสไพริน


คอลัมน์นี้เคยลงเรื่อง "แอสไพริน : เป็นมากกว่ายาแก้ปวดลดไข้" ในหมอชาวบ้านฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ พอดีได้รับจดหมายจากผู้อ่านถามปัญหาเกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการกินยาแอสไพริน ฉบับนี้จึงขอถือโอกาสตอบข้อสงสัยของผู้อ่าน และขอเกริ่นว่า หากมีผู้อ่านท่านใด มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาต่างๆ ก็เขียนมาถามที่คอลัมน์นี้ได้เลยครับ

ดิฉันมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพมาปรึกษาคุณหมอ เรื่องยาแอสไพรินมีผลดีและผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เหตุที่เรียนถามเช่นนี้เนื่องจากมาจากว่า คุณพ่อของดิฉัน เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพมากคนหนึ่ง และได้เป็นสมาชิกของหมอชาวบ้านมาตั้งแต่ฉบับต้นๆ รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพอีกหลายเล่ม (แต่ท่านเพิ่งจะเสียไปช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานี้เองค่ะ) จึงไม่ทราบว่าท่านไปอ่านหนังสือเล่มใด และประมวลความคิดอย่างไร

ดิฉันก็พอจะทราบมาบ้างว่า ยาแอสไพรินนี้ใช้ขยายหลอดเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ดิฉันก็ยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดคุณพ่อของดิฉันจึงได้แนะนำให้กินยาแอสไพริน วันละ ๑ เม็ด เวลาเช้า ให้กินระหว่างกลางอาหารเช้า (พอกินอาหารไปได้พอสมควรก็ให้กินยา จากนั้นก็กินอาหารต่อจนอิ่ม เพื่อไม่ให้ยาไปกัดกระเพาะ) ท่านกล่าวถึงผลดีของยา แอสไพรินว่าจะทำให้ไม่เวียนหัวเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และก็เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงมาก โดยเฉพาะผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน ช่วยลดอาการของโรคกระดูกผุ ดิฉันก็เห็นด้วยและกินยาดังกล่าวมาแล้วประมาณ ๑๐๐ เม็ด เนื่องจากทราบว่าไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ แต่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ช่วงที่ดิฉันกินยา ดิฉันจะมีอาการอ่อนเพลียกว่าปกติเล็กน้อย คุณพ่อให้เหตุผลว่า เนื่องจากยาแอสไพรินนี้จะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง คือต้องการพักผ่อนมากขึ้น จึงไม่ทราบว่านี่คือสาเหตุหนึ่งหรือเปล่าที่ช่วงนั้นดิฉันไม่สามารถบริจาคเลือดได้ คือทุกครั้งที่ไปตรวจเลือดเพื่อบริจาค หมอจะบอกว่าเลือดลอยตัว เพราะยาแอสไพรินทำให้เหลวหรือไม่ 

เมื่อยาหมด ๑๐๐ เม็ด ดิฉันก็บอกคุณพ่อ ท่านจึงให้มาอีก ๑๐๐ เม็ด แต่ดิฉันยังไม่ได้เริ่มกิน เพราะอีกใจหนึ่งก็คิดว่าไม่ควรกินยาพร่ำเพรื่อ อีกทั้งยังอยากเปรียบเทียบระหว่างกินยากับไม่กินยา ดิฉันจึงหยุดกินยามาได้ประมาณ ๒ เดือนครึ่ง เมื่อสัปดาห์ก่อนลองไปบริจาคเลือดอีกครั้ง ปรากฏว่าสามารถบริจาคเลือดได้ จึงอยากทราบว่าดิฉันควรจะกินยาต่อไปดีหรือไม่ และเมื่อเร็วๆนี้ ดิฉันได้อ่านพบข้อความหนึ่ง กล่าวว่า ยาแอสไพรินมีสารกาเฟอีนผสมอยู่ด้วย จึงอยากทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่  และมีอยู่มากน้อยเพียงใด แล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่

ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบและอธิบายด้วยนะคะ

ขอแสดงความนับถือ
พิชญา/เชียงใหม่

ผมขอตอบข้อสงสัยของคุณพิชญาเป็นประเด็นๆ ดังนี้ครับ

๑. แอสไพรินมิได้มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด แต่มีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด
เกล็ดเลือด ภาษาอังกฤษเรียกว่า เพลตเลต (platelets) มีหน้าที่ห้ามเลือดเวลาเกิดบาดแผล โดยการจับตัวกันเป็นลิ่ม ทำให้เลือดหยุด แต่บางคนที่มีภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็ง (เนื่องจากเป็นความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ จัด หรือสูงอายุ ฯลฯ) เกล็ดเลือดอาจจับเป็นลิ่มภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของทางไหลเวียนเลือด ถ้าเกิดขึ้นภายในหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจก็ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (เรียกสั้นๆว่า โรคหัวใจ) ถ้าเกิดขึ้นภายในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็กลายเป็นโรค อัมพาต อัมพฤกษ์ หรือความจำเสื่อม โรคเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นในบ้านเรา เนื่องจากมีคนสูงอายุมากขึ้น และมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งมีการสูบบุหรี่กันมาก

วงการแพทย์ พบว่า สรรพคุณในการยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด (จับเป็นลิ่มเลือด) นี้ สามารถนำไปใช้ป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ ผลดีจึงได้นำมาให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน อัมพฤกษ์  หรืออัมพาต กินเพื่อป้องกันมิให้โรคกำเริบซ้ำ ให้กินวันละครั้ง ครั้งละ ๗๕-๓๒๕ มิลลิกรัม (แอสไพรินสำหรับเด็ก ๑ เม็ด มีขนาด ๗๕ มิลลิกรัม แอสไพรินสำหรับผู้ใหญ่ ๑ เม็ด มีขนาด ๓๒๕ มิลลิกรัม) ขอย้ำว่าการใช้ยาในผู้ป่วยเหล่านี้ ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ตามความเหมาะสมและควรติดตาม การรักษากับแพทย์เป็นประจำ ไม่แนะนำให้ใช้กันเองตามอำเภอใจครับ

๒. เหตุผลที่ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินพร่ำเพรื่อ นอกจากเป็นเพราะ อาจแพ้ยาได้ (ทำให้เกิดอาการลมพิษ ผื่นคัน โรคหืด) และกัดกระเพาะ (ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหาร) แล้ว ข้อสำคัญก็คือ ด้วยฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดอันเดียวกันนี้เอง ทำให้ผู้ที่กินแอสไพรินเป็นประจำ มีโอกาสเลือดออก ง่าย (เลือดหยุดยาก)

แอสไพรินจึงเป็นดาบสองคมครับ จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของผู้ป่วย โดยชั่งระหว่างประโยชน์และโทษของการใช้ยานี้ให้ถี่ถ้วน

ข้อสรุปของวงการแพทย์ในปัจจุบัน สำหรับการกินยาแอสไพรินเป็นประจำเพื่อป้องกันโรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ก็คือ

- แนะนำให้ใช้เฉพาะผู้ที่เคยมีอาการของโรคเหล่านี้มาก่อน รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้ เช่น มีประวัติกรรมพันธุ์ของโรคเหล่านี้ หรือเป็นเบาหวาน เป็นต้น

- ในคนปกติทั่วไป ไม่แนะนำให้กินแอสไพรินป้องกันโรคเหล่านี้ เพราะอาจไม่คุ้มกับผลเสีย (ผลข้างเคียง) ที่จะเกิดขึ้นตามมา

๓. การกินแอสไพริน ควรกินหลังอาหาร เพื่อป้องกันมิให้ยากัดกระเพาะ การกินระหว่างกลางอาหารตามที่เล่ามาก็ทำได้ แต่อาจจะยุ่งยากสักหน่อย ข้อสำคัญอย่ากินตอนท้องว่างครับ

๔. ที่ว่า "แอสไพรินทำให้ไม่เวียนหัว เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ" ข้อนี้มีทั้งถูกและไม่ถูกครับ

  • ถูก ก็คือ ถ้าอาหารเวียนหัว นั้นเกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง (เช่น ผู้สูงอายุหรือเป็นโรคเรื้อรังดังกล่าวข้างต้น) การใช้แอสไพรินก็จะป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าวกำเริบซ้ำ ก็จะทำให้ไม่เกิดอาการเวียนหัว
     
  • ไม่ถูก ก็คือ ถ้าอาการเวียนหัวเกิดจากสาเหตุอื่นๆ การใช้แอสไพรินก็จะไม่ได้ผลครับ

๕. ที่ว่า แอสไพริน "ช่วยลดอาการของโรคกระดูกผุ" ข้อนี้ทางวงการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันครับ

๖. ในสมัยก่อน ยาแก้ปวดชนิดซองมักจะเป็นสูตรยาแอสไพริน ผสมกับกาเฟอีน ทำให้มีการเสพย์ติด (เพราะสารกาเฟอีน) ต้องกินยาเป็นประจำ เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของแอสไพรินมากมาย ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขสั่งห้ามสูตรยาผสมแบบนี้แล้วครับ

๗. ข้อแนะนำสำหรับคุณ ก็คือ ถ้าหากจะกินยาแอสไพรินเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคหรือภาวะอะไรต่างๆ อยากให้คุณหาโอกาสปรึกษาแพทย์ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเช็กสุขภาพให้แน่ใจเสียก่อน

อย่าลืมว่า แอสไพรินที่เรารู้จักกันมานานนั้นก็เป็นดาบสองคมครับ