• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะมีบุตรยากในทัศนะแพทย์จีน

ภาวะมีบุตรยากในทัศนะแพทย์จีน

ผู้ถาม สุวรรณา/กรุงเทพฯ

อยากมีลูกมาก ทำกีฟมาหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ไม่ทราบว่าทางแพทย์จีนมี ข้อแนะนำอย่างไรบ้าง

ดิฉันมีพี่สาวที่แต่งงานมา ๔-๕ ปีแล้ว อยากมีลูกมาก ได้พยายามไปทำกีฟหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ ไม่ทราบในทางแพทย์แผนจีนมีวิธีการอย่างไร อยากให้คุณหมอวิทิตช่วยแนะนำด้วยค่ะ


ผู้ตอบ สุณีรัตน์ วัณนาวิบูล วท.บ
ขอเสียใจด้วยครับ คุณหมอวิทิตได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ขณะนี้คุณสุณีรัตน์ (ภรรยา) กำลังสืบทอดความรู้และการปฏิบัติต่อ ทางกองบรรณาธิการจึงได้ส่งจดหมายให้แก่คุณสุณีรัตน์ตอบแทน เพื่อเป็นแนวในการดูแลตนเองแก่คุณสุวรรณาครับ

ปัจจุบันนี้ยังมีคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการมีบุตรอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มี ถึงแม้การแพทย์แผนปัจจุบันจะก้าวหน้าไปอย่างมาก มีเทคนิคต่างๆที่นำมาช่วยให้มีบุตร แต่ก็ยังมีผู้ที่ทำไม่สำเร็จอยู่จำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับพี่สาวคุณสุวรรณา บางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก จนสู้ไม่ไหวแล้ว บางรายติดแต่แท้งเนื่องจากการฝังตัวไม่ดี บางรายตรวจทางแผนปัจจุบันแล้วไม่พบ สิ่งผิดปกติ แต่ไม่ติด (สามีตรวจเชื้อแล้วปกติ) ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ถ้าเรามองสุขภาพแบบองค์รวมแล้วอาจจะมีปัญหาและสามารถแก้ได้ (มองแบบแพทย์ตะวันออก) ในระดับหนึ่ง คือ การมองว่าการทำงานของอวัยวะทุกระบบจะโยงใยสัมพันธ์กันหมดไม่แยกจากกัน ถ้าร่างกายโดยรวมไม่แข็งแรง การสร้างฮอร์โมนต่างๆ ก็ต้องไม่ปกติไปด้วย มดลูกก็ต้องไม่แข็งแรง การฝังตัวก็ยาก อันเป็นผลต่อการมีบุตรยาก

ตามทฤษฎีแพทย์จีนจะต้องมีความสมดุลของยิน-หยาง คนที่มีบุตรยากส่วนใหญ่แล้วพบว่ายิน-หยางไม่สมดุล ถ้าดูคร่าวๆ มักจะมีอาการเหล่านี้หรือหลายๆ อาการรวมกัน

  • ปวดศีรษะบ่อยๆ บางครั้งลุกเร็วๆ แล้ววูบ
  • ขี้หนาว หนาวไวหรือไม่ก็ไวต่อทั้งความร้อนและความเย็น
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เร็ว ช้า มากหรือน้อยไป
  • สีของประจำเดือนจะคล้ำมีก้อน ก่อนประจำเดือนมาจะมีอาการปวดท้องมาก เป็นไข้ ปวดศีรษะ หรืออาการอื่นๆ
  • เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่รู้จักพอหรือนอนไม่หลับ
  • ร้อนอุ้งมืออุ้งเท้าในเวลากลางวัน ปากเป็นแผลบ่อยๆ ท้องผูก
  • หน้าซีดเป็นส่วนใหญ่ แต่มีบางคนก็แดงเกินไป

ซึ่งอาการเหล่านี้ ในคนๆหนึ่ง อาจจะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน หรือหลายๆอาการรวมกัน ถ้าเราสามารถปรับร่างกายให้อาการเหล่านี้หายไปหรือดีขึ้น สภาพร่างกายก็แข็งแรงขึ้นมา โอกาสของการมีบุตรก็จะมีมาโดยธรรมชาติ ลักษณะที่กล่าวถึงนี้ เป็นอาการที่พบบ่อยๆ เป็นอาการคร่าวๆ นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดต่อผู้ป่วยเฉพาะคนและเป็นการสรุปจากการรักษาโรคผู้ป่วยที่มาหา พบว่า หลายๆคนร่างกายแข็งแรงดี จะมีบุตรเองโดยธรรมชาติ เป็นผลพลอยได้จากการปรับสมดุลให้ร่างกายและมีผลต่อเนื่องถึงบุตรก็จะแข็งแรงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น "ก่อนจะมีบุตรควรจะบำรุงร่างกายแม่ให้แข็งแรงเต็มที่ก่อน" ปัญหาการแท้งจะลดน้อยลง เด็กก็จะแข็งแรงตามไปด้วย อาการแพ้ระหว่างมีบุตรก็จะน้อยลง หลักการนี้เป็นข้อสรุปของหมอวิทิต วัณนาวิบูล สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ค่ะ