• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลิ้นเป็นฝ้าขาว

ลิ้นเป็นฝ้าขาว

ผู้ถาม สุริยา/ราชบุรี
ลิ้นของผมเป็นฝ้ามาตั้งแต่เด็ก ไม่ทราบทางแพทย์แผนจีนมีการรักษาอย่างไร

ผมขอเรียนถามคุณหมอ ดังนี้
ผมเริ่มสังเกตว่าลิ้นของตัวเอง เป็นฝ้ามาตั้งแต่อายุประมาณ ๑๕ ปี จนถึงปัจจุบันนี้ผมอายุ ๓๐ ปีแล้ว ลิ้นก็ยังเป็นฝ้าขาวอยู่เหมือนเดิม  ผมก็เลยไปให้หมอตรวจเลือดดูว่าเป็นเอดส์หรือเปล่า ผลออกมาว่าเป็นปกติ ไม่มีเชื้อเอดส์แต่อย่างใด ผมเคยใช้ยาน้ำสีม่วง (gential violet) ทาอยู่นานเป็นเดือน แต่ฝ้าที่ลิ้นก็ยังไม่หาย หรือจะเป็นยาไทย(ยาเม็ดสีดำ) ก็เคยใช้ทา หรือจะเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านก็ใช้มาแล้ว ตอนนี้เวลาแปรงฟัน ผมก็จะใช้แปรงสีฟันถูลิ้นด้วยทุกวัน แล้วก็ยังใช้ช้อนขูดทุกวันด้วยครับ ลิ้นก็ยังไม่หายจากฝ้าสีขาว ผมขอความกรุณาคุณหมอช่วยบอกวิธีรักษาให้ด้วยครับ


ผู้ตอบ นพ.วิทวัส วัณนาวิบูล

แพทย์แผนจีนมีวิธีการพิเศษอย่างหนึ่ง คือ การดูลิ้น การดูตัวลิ้น บอกถึงภาวะของอวัยวะตัน(จั้ง)ของร่างกาย บอกถึงความแข็งแกร่งของเจิ้งชี่ (พลังต้านทานของร่างกาย) ความรุนแรงของอวัยวะภายใน การดูฝ้าบนลิ้น บอกถึงภาวะของอวัยวะกลวง(ฝู่)ของร่างกายบอก ถึงความแข็งแกร่งของเสี่ยชี่ (สิ่งก่อโรค) บอกลักษณะของเสี่ยชี่ ตำแหน่งตื้นลึกของโรค การที่ฝ้าบนลิ้นสามารถขูดออกได้แสดงว่า โรคอยู่ภายนอกอยู่ที่ส่วนลึกระดับชี่ เรียกว่าเป็นโรคของฝู่ (อวัยวะกลวง) การที่ฝ้าบนลิ้นไม่สามารถขูดออกได้แสดงว่า โรคอยู่ข้างใน อยู่ส่วนลึกของจั้ง เรียกว่า เป็นโรคของจั้ง (อวัยวะตัน)

  • ฝ้าที่บาง บอกว่าโรคอยู่ข้างนอก, เป็นระยะเริ่มต้น เรียก โรคภายนอก
  • ฝ้าที่หนา บอกว่าโรคอยู่ข้างใน เป็นโรคที่เป็นนาน เรียก โรคภายใน

สีของฝ้า บอกลักษณะของสาเหตุของโรค สีขาวของฝ้า คือ ความเย็น,ความชื้น เป็นเหตุ

กรณีของคุณเข้าใจว่าอาจเป็น ได้ ๒ แบบ คือ

๑. ฝ้าหนาลื่น, สีขาว, มีคราบ เหนียวมัน มีสาเหตุจากความเย็นชื้นสะสม ระบบการทำงานของม้ามพร่อง มักมีอาการร่วม คือ คล้ายมีเสมหะอุดกั้นที่หน้าอก บางทีดื่มน้ำจะอาเจียน, เหนื่อยง่าย, มีความรู้สึกรสหวานในปาก

การรักษา ต้องใช้ตำรายาขับความเย็น ความชื้น และช่วยการทำงานของระบบม้ามควบคู่กันไป เช่น ตำราเวินจงทา ร่วมกับฮว่าเซียงเจิ้งชี่ส่าน

๒. ฝ้าหนา, แห้ง, สีขาว มีสาเหตุจากความชื้นสะสมเป็นความร้อน ทำลายสารน้ำของร่างกายหรือ กระเพาะอาหารแห้ง พลังถูกทำลาย หรือภาวะสารน้ำในร่างกายถูกทำลาย

ในกรณีนี้นอกจากขับความชื้น แล้วยังต้องขับความร้อนด้วยหรือเติมสารน้ำในร่างกาย เช่น ชิงเว่ยส่าน ร่วมกับฮว่าเซียงเจิ้งชี่ส่าน จะเห็นว่าการใช้ยาทาภายนอก จะไม่สามารถรักษาได้ เพราะว่าภาวะฝ้าบนลิ้นที่ขาวหนาดังกล่าวเป็นผลจากโรคภายในร่างกาย คงต้องพิจารณาสภาพร่างกายทุกระบบโดยองค์รวม จึงจะได้ข้อมูลและการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง การจัดยาที่เหมาะสม การรักษาโรคจึงจะได้ผลและหายได้