• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดน้อย

เลือดน้อย


ผู้ถาม นิดดา/กรุงเทพฯ
อยากทราบว่าเลือดน้อยกับโรคเลือดจาง เหมือนกันหรือเปล่าคะ มีอันตรายไหม แล้วจะรักษาอย่างไร

ดิฉันอายุ ๒๕ ปี น้ำหนัก ๔๕ กิโลกรัม สูง ๑๕๘ เซนติเมตร ทำ งานในสำนักงาน (ห้องปรับอากาศ) อาหารการกินก็กินปกติ คือ กินผัก ผลไม้ แต่ไม่ชอบกินเนื้อสัตว์สักเท่าไร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีบ้างนิดหน่อย เช่น ไวน์ เพื่อนๆชอบทักว่าดิฉันหน้าซีด (คงหมายถึงผิวซีดขาวไม่เกี่ยวกับการเป็นลมแต่อย่างใด) ดิฉันสงสัยจึงได้ตรวจหลอดเลือดที่ใต้ตา (หนังตาด้านใน) พบว่า ซีดจริงๆ คือ ไม่มีสีแดงสดเหมือนของคนอื่น มีเพื่อนร่วมงานแนะนำว่า อ่านหนังสือเจอ เขาบอกว่าเป็นเพราะเลือดน้อย หมายความว่าอย่างไรคะ เลือดน้อยเหมือนกับเลือดจางหรือเปล่าคะ (ปกติเวลามีประจำเดือนก็มีเยอะ) ดิฉันก็เลยไปซื้อยาที่องค์การเภสัชฯ ชื่อยา เฟอร์รัส ซัลเฟต (ferrous sulfate) ยานี้มีข้อแนะนำ คือ ให้กินกับยาเม็ดวิตามินซีจะได้ผลดียิ่งขึ้น ทำไมถึงเกี่ยวกันด้วยคะ และสุดท้ายช่วงที่กินยานี้อุจจาระจะมีสีดำจริงๆด้วยค่ะ มันเกิดอะไรขึ้นคะ


ผู้ตอบ พญ.ปราณี สุจริตจันทร์
ดิฉันขอตอบจดหมายเกี่ยวกับโรคเลือดน้อยของคุณ ดังนี้

เลือดน้อยน่าจะมีความหมายถึงเลือดจาง ซึ่งหมายถึง การที่มีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ทำงาน ได้ไม่เหมือนเดิม บางคนจะรู้สึกว่าขี้เกียจทำงาน เป็นต้น สาเหตุของภาวะเลือดจางมีมากมาย เช่น โรคทางพันธุกรรม คือ โรคเลือดจางทาลัสซีเมีย ซึ่งเกิดจากการที่มีเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้นลงเนื่องจากถูกทำลาย ทำให้มีเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกายน้อยลง โรคเลือดจางจากภาวะขาดธาตุเหล็กซึ่งเป็นธาตุที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากภาวะที่ร่างกายเสียเลือดไปและไม่ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเพียงพอ เช่น เสียเลือดจากริดสีดวงทวาร เลือดประจำเดือน เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร มีพยาธิปากขอในลำไส้ เป็นต้น โรคของไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือด เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดเลือด เป็นต้น

ดังนั้น การวินิจฉัยภาวะเลือดจางจึงต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย ยาเฟอร์รัสซัลเฟตเป็นธาตุเหล็ก ใช้รักษาภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กเท่านั้น วิตามินซีเป็นตัวช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กมากขึ้น หลังจากกินธาตุเหล็กแล้วอุจจาระจะเป็นสีดำเนื่องจากมีธาตุเหล็ก