• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาสีฟันทำให้ฟันขาว

ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวขึ้นที่มีโฆษณาในโทรทัศน์ ไม่ทราบว่าทำให้ฟันขาวได้จริงหรือไม่ และจะมีอันตราย หรือมีผลข้างเคียงอะไรไหม
ผู้ถาม
ดรุณี/กรุงเทพฯ
ผู้ตอบ ทพ.ไพฑูรย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

ถาม ดิฉันอายุ ๑๙ ปีค่ะ เมื่อก่อนนี้ฟันจะขาวมาก เนื่องจากเวลาแปรงฟัน จะใช้แปรงสีฟันแปรงฟันแรงๆ (จะเรียกว่า "ขัด" ก็ได้) มีเลือดออกบางครั้ง แต่เห็นว่าฟันก็ขาวดี และก็ไม่ได้เป็นโรคอะไรในช่องปาก แต่ปัจจุบันแปรงแบบธรรมดา เพราะกลัวว่าเหงือกจะอักเสบค่ะ ก็เลยมีเรื่องจะรบกวนถามคุณหมอ ดังนี้ค่ะ
๑. ตอนนี้มียาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวขึ้น ที่มีโฆษณาในโทรทัศน์ ไม่ทราบว่าทำให้ฟันขาวได้จริงหรือไม่
๒. มีอันตรายไหมคะ หรือมีผลข้างเคียงอะไรไหมคะ
๓. เคยเห็นในร้านขายยา มี ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว คงเป็น ของนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องใช้ร่วมกับยาสีฟันธรรมดา หลอดละ ๓๐๐-๕๐๐ บาท จะทำให้ฟันขาวกว่ายาสีฟันที่ผลิตในประเทศหรือเปล่าคะ
๔. การไปขัดฟันขาว ตาม ร้านหมอฟัน จะดีกว่าหรือเปล่า และมีขั้นตอนในการทำอย่างไรบ้างคะ
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

ตอบ ๑. ยาสีฟันที่โฆษณาทางโทร-ทัศน์ว่าทำให้ฟันขาวขึ้นนั้น เท่าที่ผมเคยเห็นมีอยู่ ๒ ยี่ห้อ แต่จะไม่ขอเอ่ยชื่อ ณ ที่นี้ เท่าที่ดูจากเอกสารประกอบสินค้า ไม่พบว่ามีสารชนิดเดียวกับที่ใช้ฟอกสีฟัน ซึ่งใช้ในคลินิกทันตแพทย์ หรือที่ผลิตออกมาเพื่อฟอกสีฟันโดยเฉพาะ คงมีแต่เพียงสารขัดถูก (abrasive substance) ที่มีขนาดความหยาบของตัวสารขัดถูกนี้เล็กกว่าที่เคยมีใช้ในยาสีฟันรุ่นก่อนๆ
ดังนั้นถ้าจะตอบว่าทำให้ฟันขาวขึ้น โดยวิธีฟอกสี (bleaching) คงไม่ได้ แต่น่าจะเป็นว่าทำให้ฟันสะอาดขึ้น จากการช่วยขจัดคราบที่เกาะบนผิวเคลือบฟัน ซึ่งความสะอาดที่ดีขึ้น ย่อมทำให้แลดูขาวขึ้นได้เช่นกัน แต่สีเดิมของเนื้อฟันไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ส่วนวิธีฟอกสีนั้น เป็นกระบวนการที่สารฟอกสีไปเปลี่ยนสีเนื้อฟันด้วยการ oxidize ทำนองเดียวกับการเปลี่ยนสีน้ำตาลอ้อยให้เป็นน้ำตาลทรายขาว โดยสารดังกล่าวจะมีสารประกอบที่สำคัญในการ ออกฤทธิ์ฟอกสีฟัน คือ Nascent Oxygen ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ ๒ กลุ่ม ได้แก่
๑. Hydrogen peroxide และ ๒. Carbomide peroxide ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ ๓ เปอร์เซ็นต์, ๕ เปอร์เซ็นต์, ๑๐ เปอร์เซ็นต์ และ ๓๕ เปอร์เซ็นต์
๒. อันตรายจากการใช้ยาสีฟันในข้อ ๑ ไม่มี ถ้าไม่กลืนเข้าไปมากๆ ส่วนอันตรายจากสารหรือยาฟอกสีฟันเท่าที่พบคือทำให้เสียวฟันและแสบเหงือกมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับวิธีใช้ ดังนั้นจึงควรอยู่ในความดูแลของทันตแพทย์ เพื่อความปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพ สูงสุด
๓. ยาฟอกสีฟันที่วางขายตามร้านขายยาหรือห้างสรรพสินค้า หากมีสารประกอบ ๒ กลุ่มดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมมีผลในการฟอกสีฟันเช่นกัน
๔. ขั้นตอนในการฟอกสีฟัน ในคลินิกทันตแพทย์ ได้แก่
- การตรวจสภาพช่องปาก โดยละเอียด รวมทั้งการซักประวัติด้านสุขภาพทั่วไป การแพ้ยา
- การวิเคราะห์ และวางแผนการฟอกสีฟัน แล้วอธิบายให้คนไข้เข้าใจ
- การพิมพ์ปากเพื่อทำการรองรับยาฟอกสี (tray) ที่ใช้เฉพาะราย
- ในบางกรณีอาจทำการฟอกสีได้ทันทีในวันนั้นเลย โดยก่อนทายาฟอกสีฟัน หมอจะขัด ผิวฟันให้สะอาดก่อน
- หลังจากได้ tray แล้ว หมอจะจ่ายยาฟอกสีฟันที่เตรียมไว้ให้คนไข้ไปทำเองที่บ้าน แล้วนัดกลับมาประเมินผลเป็นระยะๆ ปกติจะใช้เวลาทั้งสิ้นราวๆ ๑-๔ สัปดาห์จึงแล้วเสร็จ
- ในรายที่ฟันมีสีเข้มมาก เช่น สีเทา หรือดำ การฟอกสีเพียงอย่างเดียวจะให้ผลเพียงความเข้มนั้นจางลงบ้าง ไม่ขาวอย่างฟันปกติ หมอมักจะแนะนำให้คนไข้ทำการปิดเคลือบผิวฟันด้านหน้าด้วยวัสดุพวกพอสเลน (porcelain) หรือ composite resin เรียกกันในภาษาทางทันตกรรมว่าทำ Veneer facing จึงจะได้ความสวยงามเช่นฟันปกติ