• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หอบ หืด

ลูกเป็นหวัดบ่อย กลัวลูกจะเป็นหอบหืดเหมือนตัวเอง เพราะทราบมาว่าหอบหืดถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ จึงอยากทราบ ว่า มีวิธีใดที่จะป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหอบหืดบ้างไหม
 ผู้ถาม กานดา/สมุทรปราการ
ผู้ตอบ พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค 

ถาม ดิฉันมีโรคประจำตัวคือ หืด หอบ ต้องพึ่งยาเป็นประจำ แต่ในระยะปีสองปีมานี้ ดิฉันดูแลสุขภาพดี ว่ายน้ำสม่ำเสมอ กินอาหารมีประโยชน์ ร่างกายจึงแข็งแรง เลยไม่มีอาการมาปีกว่าแล้วค่ะ
ดิฉันมีลูกสาว ๑ คน อายุ ๒ ขวบ ตอนเด็กๆลูกเป็นหวัดบ่อยจนดิฉันกลัวลูกจะเป็นหอบเหมือนตัวเอง เพราะทราบมาว่าหอบหืดถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วย

จึงอยากเรียนถามคุณหมอว่า มีวิธีใดที่จะป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหอบหืดบ้าง เพราะเวลาเป็นแล้วทรมานมาก สงสารลูก ไม่อยากให้เป็นค่ะ 

ตอบ โรคหอบหืดมี ๒ ชนิด คือ ชนิดที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ และชนิดที่ไม่ได้เกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ได้ คือ ชนิดที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้นี้ ไม่จำเป็นว่าเมื่อแม่เป็นหอบหืดแล้ว ลูกจะต้องเป็นโรคหอบหืดด้วย เพราะโรคภูมิแพ้มีหลายชนิด นอกจากโรคหอบหืด ยังมีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคแพ้อากาศ, โรคตาอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น ดังนั้นแม้แม่จะเป็นโรค หอบหืด ลูกก็อาจเป็นโรคอื่น เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือเป็น ทั้ง ๒ อย่างก็ได้ และมิใช่ว่าถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้แล้วลูกทุกคนจะต้องเป็นด้วย จากการศึกษา พบว่าถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้เพียงฝ่ายเดียว ลูกที่เกิดมามีโอกาสที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ด้วย ประมาณร้อยละ ๒๕ หรือ ๑ ใน ๔ ถ้าทั้งพ่อและแม่มีประวัติ เป็นโรคภูมิแพ้ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เป็นคนละชนิดกัน เช่น แม่เป็นโรคหอบหืด แต่พ่อเป็นโรคแพ้อากาศ ลูกที่เกิดมามีโอกาสจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยร้อยละ ๕๐ หรือ ๑ ใน ๒ ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดเดียวกัน เช่น เป็นโรคหอบหืดทั้งคู่ ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงกว่าร้อยละ ๗๕ การที่ลูกสาวของคุณอายุ ๒ ขวบ มีอาการเป็นหวัดบ่อย ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ว่าเป็นอาการของโรคภูมิแพ้หรือเป็นหวัดธรรมดา อย่างไรก็ตามผู้ที่จะมีอาการของโรคภูมิแพ้ได้ต้องประกอบด้วยปัจจัย ๓ อย่าง คือ
๑. ปัจจัยทางพันธุกรรม นั่น คือได้รับความผิดปกติในระบบสร้างภูมิคุ้มกันที่ทำให้อาจเกิดเป็นโรคภูมิแพ้ได้ ถ่ายทอดมาตามสายเลือด
๒. ปัจจัยโดยตรง คือได้รับ สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไป สารก่อภูมิแพ้ที่มีผู้แพ้บ่อยทางระบบหายใจ ได้แก่ ฝุ่น, ตัวไรในฝุ่น บ้าน, ละอองเกสรหญ้าและพืชชนิดต่างๆ, เศษชิ้นส่วนของแมลงสาบ ยุง แมลงวัน ฯลฯ และเชื้อราในอากาศ รวมทั้งขนและรังแคของสัตว์เลี้ยงที่มีขนชนิดต่างๆ
๓. ปัจจัยเสริม ได้แก่ มลภาวะในอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน กลิ่น ก๊าซ ฯลฯ, การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ, แอร์เป่า, พัดลมเป่า และการที่สุขภาพร่างกายอ่อนแอลงจากสาเหตุใดๆก็ตาม

                                                       


ดังนั้นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหอบหืด จึงต้องมุ่งที่ปัจจัยข้อที่ ๒ และ ๓ นั่นคือพยายามกำจัดสารก่อภูมิแพ้ และมลภาวะออกไปจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบ้านและพยายามบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดังเช่นกรณีของคุณเอง คุณก็ได้ประจักษ์แล้วว่า การที่คุณดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี สามารถทำให้ไม่มีอาการหอบหืดเลย ดังนั้นถ้าคุณดูแลทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ของลูกสาวคุณให้ดี ก็จะป้องกัน ไม่ให้ลูกเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ได้เช่นกัน

ในต่างประเทศ ได้มีความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ขึ้น ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ โดยให้เลือกเวลาที่จะตั้งครรภ์ให้พอเหมาะที่จะคลอดในช่วงเวลาที่มีสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะละอองเกสรหญ้าและพืชชนิดต่างๆ ในอากาศ เพราะในประเทศหนาว หญ้าและพืชชนิดต่างๆจะออก ดอกและมีเกสรออกมาเป็นฤดูกาลชัดเจน

ขณะเด็กยังอยู่ในท้องก็จะแนะนำแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้และ ตั้งท้องอยู่ ไม่ให้กินอาหารที่จะแพ้ได้ง่าย เมื่อคลอดแล้วก็พยายามให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุด เพราะนมวัวก็พบมีผู้แพ้ได้บ่อย การจะเริ่มอาหารเสริมในเด็กเหล่านี้ ก็จะต้องเริ่มเมื่อเด็กมีอายุมากกว่าเด็กธรรมดา เพราะเชื่อว่าผนังลำไส้ในเด็กอ่อนๆจะดูดซึมส่วนของอาหารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้มากกว่าเด็กโต ในบ้านที่เลี้ยงเด็กเหล่านี้ ก็ต้องไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนทุกชนิด และไม่ให้มีใครมาสูบบุหรี่ในห้อง การจัดห้องนอนให้เด็กก็ต้องยึดหลักเช่นเดียวกับที่จัดให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และเมื่อเด็กโตขึ้นพยายามให้กินอาหารให้ครบทุกประเภท, พักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังหรือเล่นกีฬาสม่ำเสมอก็เชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้เป็นโรคภูมิแพ้ได้