• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การกินยาคุมกำเนิด

ดิฉันยังไม่พร้อมที่จะมีลูก จึงอยากทราบวิธีการกินยาคุมกำเนิด กินอย่างไรจึงจะถูกต้องและให้ประจำเดือนมาตามปกติ
ผู้ถาม
รุ่งทิวา/สมุทรปราการ
 ผู้ตอบ นพ.สัญญา ภัทราชัย 

ถาม สวัสดีค่ะ ดิฉันอายุ ๒๔ ปี แต่งงานแล้ว แต่ต้องการคุมกำเนิด เพราะยังไม่พร้อมที่จะมีลูก ดิฉันคุมกำเนิดโดยการกินยาคุม ปกติดิฉันจะมีประจำเดือนมาไม่ตรงกำหนด จึงสับสนว่าจะเริ่มกินยาคุมตอนไหน เพราะบางทีกินหมดแผงประจำเดือนก็มา ดิฉันจึงหยุดกิน พอประจำเดือนหมดก็เริ่มกินใหม่ บางทีกินยาคุมหมดแผงไปแล้วประจำเดือนก็ยังไม่มา ระหว่างที่รอประจำเดือนมาก็หยุดกินชั่วคราว ดิฉันกลัวจะท้องขึ้นมา
จึงอยากจะเรียนปรึกษาคุณหมอถึงการกินยาคุมกำเนิด ว่ากินอย่างไรถึงจะถูกต้องคะ

ตอบ ยาเม็ดคุมกำเนิดในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด มีทั้งชนิดรวมที่มีแผงละ ๒๘ หรือ ๒๑ เม็ด หรือชนิดที่มียาที่มีปริมาณฮอร์โมนหลายระดับในแผงเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามียาหลายกลุ่มมีสีต่างกันอยู่ในแผงเดียวกัน หรือแม้กระทั่งยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดหลังร่วมเพศ ที่มี ๔ เม็ดในแผงเดียว

คุณไม่ได้ให้ข้อมูลว่ากินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใด และในแผงมียากี่เม็ด ขอเดาว่าคุณใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผงละ ๒๘ เม็ด ซึ่งเป็นชนิดที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด ขอแนะนำให้คุณซื้อยาชื่อเดียวกันตลอด อย่าเปลี่ยนยาบ่อยๆ เริ่มกินยาเม็ดแรกของแผงในวันแรกที่มีประจำเดือน กินทุกวันต่อเนื่องในเวลาเดียวกันไม่มีหยุด และเมื่อหมดแผงก็ให้เริ่มแผงใหม่ในวันต่อไปทันทีโดยไม่ต้องเว้นวันและไม่ต้องคำนึงถึงประจำเดือน ถ้าคุณปฏิบัติตามนี้ มักจะมีเลือดประจำเดือนออกตรงกำหนดทุกรอบ ๒๘ วัน ตามแผงยารอบละ ๓ วัน ซึ่งเป็นเลือดออกจากการควบคุมของยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่ใช่ประจำเดือนตามธรรมชาติ และคุณจะสังเกตได้ว่าอาการต่างๆที่เคยมีสัมพันธ์กับประจำเดือนจะลดน้อยลง เช่น ปวดประจำเดือนน้อยลง

ในกรณีที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด ๒๑ เม็ด ก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เพียงแต่เมื่อยาหมดแผงแล้วจะต้องเว้นช่วงเป็นเวลา ๗ วัน จึงจะเริ่มเม็ดแรกของแผงใหม่ใน วันที่ ๘ ในช่วงที่หยุดยา ๗ วัน นั้นมักจะมีเลือดออกเป็นประจำเดือน อยู่ ๒-๓ วัน

ถ้าใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีและมีประสิทธิภาพสูง แต่ในกรณีที่ใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือผิดไปจากคำแนะนำข้างต้น ก็อาจจะมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์หรือคุมกำเนิดล้มเหลวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรือประจำเดือนอาจจะผิดปกติ เช่น กะปริบกะปรอย หรือไม่เป็นรอบสม่ำเสมอ ในกรณีที่ไม่แน่ใจคุณควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจและรับคำแนะนำที่ถูกต้อง