• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไวรัสตัวใหม่

ไวรัสตัวใหม่ที่มากับฝนกรด เป็นตัวเดียวกับ “เอ็นเทอโรไวรัส ๗๑” หรือไม่ ช่วยแนะนำ และไม่ทราบว่าจะมีวิธีการป้องกันได้อย่างไร
ผู้ถาม อรอุมา/กรุงเทพฯ
ผู้ตอบ พ.ญ.จันทพงษ์ วะสี

ถาม  ดิฉันอ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๑ สกู๊ป หน้า ๑ ที่ลงเรื่อง “มฤตยูพันธุ์ใหม่ เอ็นเทอโรไวรัส ๗๑ ตายใน ๓ วัน” ทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องไวรัสตัวที่ ๘ มีเพื่อนเล่าให้ฟังว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการสัมมนาที่ยุโรป ซึ่งในการสัมมนาครั้งนั้นได้เตือนให้ระวังฝนกรด
โดยบอกว่าจะมีไวรัสตัวใหม่มากับฝนกรด ไวรัสตัวนี้ทำให้ถ่ายเป็นเลือดหรืออาเจียนเป็นเลือด เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะเสียชีวิตใน ๔๘ ชั่วโมง เขาเรียกไวรัสที่มากับฝนกรดนี้ว่า “ไวรัสตัวที่ ๘”

นอกจากนี้ยังเตือนไม่ให้ “ดื่มน้ำฝน” ผักและผลไม้ต้องล้างให้สะอาด “ไวรัสตัวที่ ๘” นี้จะไม่มียาใดรักษาได้
“ไวรัสตัวที่ ๘” นี้ จะเป็นตัวเดียวกับ “เอ็นเทอโรไวรัส ๗๑” หรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจที่การสัมมนานี้เรียก “เอดส์” ว่า “ไวรัสตัวที่ ๖”
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยแนะนำวิธีป้องกันด้วยค่ะว่าจะต้องระวังอะไรบ้าง ถ้าเป็นแล้วจะรู้ได้อย่างไร แล้วจะรักษาอย่างไรคะ


ตอบ
คำถามของคุณแยกได้เป็น ๔ เรื่อง คือ ฝนกรด , มฤตยูพันธุ์ใหม่ เอ็นเทอโรไวรัส ๗๑ , ไวรัสตัวที่ ๖ และไวรัสตัวที่ ๘ ไวรัส ๓ ตัวนี้เป็นไวรัสใหม่ที่เพิ่งรู้จัก
ทั้ง ๔ เรื่องนี้ จัดเป็นปัญหาใหม่ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง

เรื่องที่หนึ่ง ฝนกรด เกิดจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันปนอยู่ ทำให้เกิดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศ เป็นอันตรายต่อระบบหายใจ ผิวหนัง และระบบอื่นๆ เมื่อฝนตกจะจะละลายแก๊สในอากาศ เกิดเป็นกรดกำมะถัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ประเทศในยุโรปมีความกังวลในเรื่องฝนกรด เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังทำลายศิลปกรรม โบราณสถานต่างๆ

เรื่องที่สอง เชื้อเอ็นเทอโรไวรัส ๗๑ แยกได้ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และมีรายงานการระบาดจากประเทศต่างๆหลายครั้ง ทำให้เกิดโรคมีอาการหลายแบบ พบได้ทั้งไข้ผื่นในปาก และมือกับเท้า (hand , foot and mouth disease) อัมพาตปวกเปียกเฉียบพลันคล้ายโรคโปลิโอ สมองอักเสบ หัวใจอักเสบ ในเดือนเมษายน ๒๕๔๐ มีรายงานโรคระบาดจากเชื้อนี้ในรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย เด็กในซาราวัคเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในเวลาใกล้เคียงกันราว ๓๐ ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ปี ตรวจพบอาการไข้มีผื่นร่วมด้วย เด็กบางรายมีอาการอัมพาต หรือชัก เด็กที่ป่วยบางรายมีประวัติว่าสัมผัสกับผู้ป่วยมาก่อนราว ๒-๕ วัน การระบาดในมาเลเซียพบได้ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐

ในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ พบการระบาดของ เอ็นเทอโรไวรัส ๗๑ ที่ไต้หวัน เด็กเสียชีวิตราว ๓๐ ราย ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า ๕ ปี
ในประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโรคนี้ แต่ยังไม่พบการระบาดของเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส ๗๑ ดังที่มีรายงานในมาเลเซีย และไต้หวัน การติดต่อเป็นได้ทั้งทางการกิน และการหายใจ จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

เรื่องที่สามคือ ไวรัสตัวที่ ๖ เข้าใจว่าเป็นไวรัสที่เรียกว่า ฮิวแมน เฮอร์พีส ชนิดที่ ๖ อยู่ในสกุลเดียวกับไวรัสก่อโรคเริม อีสุกอีใส และงูสวัด เชื้อกลุ่มเริมนี้เรียกว่า เฮอร์พีสไวรัส เชื้อสกุลนี้เคยพบในคนมาก่อนแล้ว ๕ ชนิด เชื้อนี้แยกได้ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และพบร่วมในผู้ป่วยเอดส์ เชื้อเฮอร์พีสในคนชนิดที่ ๖ นี้ ติดต่อทางการหายใจ การสัมผัสใกล้ชิด ทำให้เกิดอาการไข้ ไข้มีผื่นตัวแดง และอาจทำให้เกิดอาการอื่นได้ แต่ไม่น่าพบการระบาด เพราะคนส่วนใหญ่ติดเชื้อนี้ตั้งแต่อายุน้อย และพบเชื้อแพร่กระจายทั่วโลก

เรื่องที่สี่คือ ไวรัสตัวที่ ๘ เข้าใจว่าน่าจะเป็นฮิวแมน เฮอร์พีส ชนิดที่ ๘ เพิ่งพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ พบในเซลล์มะเร็งหลอดเลือดแคโปซิ (Kaposi sarcoma) มะเร็งชนิดนี้พบบ่อยในชายรักร่วมเพศที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ การติดเชื้อไวรัสตัวที่ ๘ นี้ อาจพบได้ในคนปกติ ยังไม่ทราบว่าเกี่ยวกับโรคอื่นอย่างไร