• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้อเนื้อ

การสวมแว่นกันแดด จะสามารถป้องกันการเกิดต้อเนื้อได้ไหม และถ้าลอกต้อเนื้อตั้งแต่อายุยังน้อย โอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นอีกมีมากน้อยแค่ไหน

ผู้ถาม สมศักดิ์/กรุงเทพฯ
ผู้ตอบ พญ.สกาวรัตน์ คุณรวิศรุต

ถาม ขณะนี้ผมอายุ ๒๕ ปี ผมเป็นโรคต้อเนื้อที่ตาซ้ายซึ่งมีเนื้อยื่นเข้ามาในตาดำประมาณ ๒ มิลลิเมตร ไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอได้ให้ยาหยอดตาเพื่อไม่ให้อักเสบ พอหมดฤทธิ์ยา ตาก็จะแดงอีก ซึ่งผมกลุ้มใจมากเพราะทำให้ผมขาดความมั่นใจในตัวเอง เวลาพูดกับบุคคลอื่นไม่กล้าสบตาเขา จึงขอเรียนถามคุณหมอดังนี้
๑. การใช้ยาหยอดตานานๆ จะเป็นอันตรายไหมครับ (ยาที่หมอให้มาชื่อ Hista-oph ผมหยอดมาประมาณ ๕ ปี)
๒. ถ้าจะลอกต้อเนื้อ อายุขนดผมลอกได้ไหมครับ เห็นหมอเขาบอกว่าต้อเนื้อเมื่อลอกแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก เช่น การลอกต้อเนื้อในคนที่อายุน้อย
๓. หมอบอกว่า ต้อเนื้อเกิดจากแสงแดด ลม ต้องสวมแว่นกันแดดก็จะป้องกันได้ ถ้าผมลอกตาตอนนี้ แล้วมาป้องกันโดยสวมแว่นกันแดด โอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นใหม่อีกมีมากน้อยแค่ไหนครับ
๔. แว่นตากันแดดที่เหมาะสมกับสภาพบ้านเราเขามีวิธีการเลือกซื้ออย่างไรครับถึงจะป้องกันแสงแดดได้มากที่สุดและปลอดภัยต่อตัวเรามากที่สุด
๕. แว่นสายตาที่ทำเป็นแว่นกันแดดได้ด้วย จะเหมาะสมกับคนที่ลอกต้อเนื้อหรือไม่ครับ ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับสายตา

ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบให้ด้วยนะครับ

ตอบ คุณมีโรคต้อเนื้อลามเข้าในตาดำประมาณ ๒ มิลลิเมตร ไม่ถือว่าเป็นโรคอะไรรุนแรงหรือน่าอายถึงขั้นขาดความมั่นใจในตัวเอง ด้วยสิ่งแวดล้อมในบ้านเราที่มีฝุ่นละออง สิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในตามากมายประกอบกับภูมิประเทศใกล้เคียงบริเวณเส้นศูนย์สูตรมีแดดร้อน จึงทำให้คนไทยที่มีอาชีพอยู่กับแดดมีโอกาสเป็นต้อเนื้อกันทั้งนั้น ขอตอบคำถามดังนี้
๑. ยาหยอดตาบางตัว โดยเฉพาะยาในกลุ่มเข้า steroid หยอดไปนานๆจะก่อให้เกิดโทษหลายอย่างได้แก่ เกิดต้อกระจก ต้อหิน ซึ่งร้ายแรงกว่าต้อเนื้อที่เป็นหลายเท่า ยังอาจทำให้ภูมิต้านทานในตาน้อยลง มีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น สำหรับยาที่คุณเอ่ยมาเป็นยาหยอดในกลุ่มแก้แพ้และหดหลอดเลือด ลดอาการตาแดง อาจจะไม่มีโทษอะไรมากมายนัก แต่ก็ทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น จึงไม่ควรจะต้องหยอดประจำ
ข้อ ๒ และข้อ ๓ จริงอย่างที่คุณทราบมา ต้อเนื้อเมื่อลอกออกไปแล้ว มีโอกาสเป็นใหม่ได้ หากต้นเหตุยังไม่ถูกขจัดออกไป โดยเฉพาะคนอายุน้อยโอกาสกลับคืนใหม่สูงกว่าคนสูงอายุ มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าอัลตราไวเลต (UV) จากแสงอาทิตย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดต้อเนื้อ ถ้าจำเป็นต้องโดนแดด ถ้าพยายามเลี่ยงแสงแดดโดยใช้แว่นกันแสง UV โอกาสเป็นต้อเนื้อก็จะน้อยลง
๔. แว่นกันแดดที่ดีจะต้องป้องกันมิให้แสง UV ซึ่งเป็นแสงคลื่นสั้นที่มองไม่เห็นด้วยตา มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๔oo mm. ลงมา กล่าวคือแสงอาทิตย์ประกอบด้วยแสงที่มองเห็นด้วยตา (มีขนาด ๔oo-๗oo mm.)แสงที่ความยาวคลื่นน้อยกว่า ๔oo ได้แก่ กลุ่มแสง UV ซึ่งแบ่งเป็น A , B , C กล่าวกันว่าในแสงอาทิตย์มีแสง UV อยู่เพียงร้อยละ ๕ และกลุ่ม UVC จะถูกดูดซึมโดยโอโซนในชั้นบรรยากาศ หากมนุษย์เรายังช่วยกันทำลายสิ่งแวดล้อมทำให้ชั้นโอโซนของบรรยากาศผิดปกติไป พลังแสง UVC อาจมาถึงพื้นผิวโลกทำอันตรายต่อมนุษย์มากยิ่งขึ้นในภายภาคหน้าได้

ปัจจุบันแสง UV ที่เหลือลงมาผิวโลก เป็น UVA และ B จะกระจายทั่วท้องฟ้า ถ้าวันไหนเมฆทึบจะกันแสง UV ไปได้บ้าง ในแต่ละเวลาของวันพบว่าช่วง ๘.oo-๑๔.oo น. เป็นช่วงที่มีแสง UV มากระทบผิวโลกมากที่สุด อีกประการหนึ่งยังขึ้นอยู่กับว่าแสงอาทิตย์นั้นกระทบต่อพื้นผิวอะไร เช่น กระทบพื้นถนนจะสะท้อนเข้าตาประมาณร้อยละ ๑o ถ้าเป็นผิวน้ำจะสะท้อนเข้าตานักตกปลาได้ถึงร้อยละ ๒o และถ้าเป็นการเล่นสกีบนพื้นหิมะในต่างประเทศจะสะท้อนได้ถึงร้อยละ ๘o ทั้งหมดที่กล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องใช้แว่นกันแดดในกรณีต่างๆกัน

พูดถึงมาตรฐานของแว่นกันแดด คงจะหมายถึงคุณสมบัติการดูดแสง UV เป็นหลัก บ้านเรายังไม่มีมาตรฐาน จะขอยกมาตรฐานของแว่นกันแดดของประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standard Institute, ANSI) แบ่งแว่นกันแดดเป็น ๓ ชนิด โดยอาศัยการดูดซึมแสง UV เป็นหลัก
ชนิดที่ ๑ เป็นแว่นเพื่อความสวยงามมากกว่า แว่นนี้จะดูดซึม UVA ร้อยละ ๒o และ UVB ร้อยละ ๗o
ชนิดที่ ๒ เป็นแว่นกันแดดทั่วๆไป จะต้องดูดซึม UVA ร้อยละ ๖o และ UVB ร้อยละ ๙๕
ชนิดที่ ๓ เป็นแว่นกันแดดชนิดพิเศษ จะต้องดูดซึม UVA ร้อยละ ๖o และ UVB ร้อยละ ๙๙

โดยสรุป แว่นกันแดดจะต้องมี UVA ผ่านแค่ร้อยละ ๔o
ถ้ามีเครื่องวัดการผ่านของแสง UV แว่นกันแดดที่ได้มาตรฐานจะให้ UVA ผ่านแค่ร้อยละ ๔o
๕. แว่นสายตาทั่วๆไป ที่มีคุณสมบัติกัน UV ได้ ก็ถือเป็นแว่นกันแดดไปด้วย แม้แต่เลนส์ที่ทำแว่นสายตาก็กัน UV ได้บางส่วน โดยทั่วไปเลนส์พลาสติกกัน UV ได้ดีกว่าแก้ว แว่นนกันแดดที่เป็น polarized lens เป็นเลนส์ลดแสงจ้าได้ดี แต่กรองแสง UV ได้น้อย

แว่นกันแดดส่วนใหญ่จะทำเป็นสี การเลือกสีของเลนส์ขึ้นอยู่กับความชอบ แต่ควรเลือกสีของเลนส์ที่ทำให้การเห็นสีเปลี่ยนหรือผิดไปน้อยที่สุด หรืออย่างน้อย สีที่เปลี่ยนไปจะต้องยังทำให้ผู้สวมแยกไฟจราจรแดง เขียวออก สีเกือบทุกสีทำให้สีของวัตถุบิดเบือนไปบ้าง พบว่าสีเทาจะทำให้เห็นสีบิดเบือนน้อยที่สุด สีเขียวทำให้การเห็นสีบิดเบือนมากที่สุด

นอกจากนั้นเลนส์บางสีเหมาะในกรณีต่างๆ เช่น เลนส์สีเหลืองจะกรองสีน้ำเงินออกไปทำให้เห็นวัตถุท่ามกลางอากาศที่มีหมอกปกคลุมได้ดี แนะนำให้ใช้เวลาเดินป่า เลนส์สีน้ำเงินอมเขียวเหมาะสมสำหรับผู้ทำงานกลางแสงอินฟราเรด infrared ได้แก่ ช่างเป่าแก้ว เป็นต้น