• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระเพาะ

โรคกระเพาะมีอันตรายมากน้อยอย่างไร ควรกินอาหารอย่างไรเมื่อเป็นโรคนี้ และจะมีวิธีการรักษาให้หายขาดหรือไม่
ผู้ถาม อรพรรณ/ประจวบคีรีขันธ์
ผู้ตอบ นพ.อุดม คชินทร

ถาม ดิฉันอายุ ๒๗ ปี ส่วนสูง ๑๕๕ เซนติเมตร น้ำหนัก๔๐ กิโลกรัม
ปัญหาของดิฉันคือ ดิฉันมีอาการปวดท้องช่วงลิ้นปี่ลงมา และจะปวดแสบ บางครั้งมีการดูแลร่วมด้วย ดิฉันจะกินข้าวในช่วงเช้ามาระยะหนึ่ง แต่ช่วงหลังมานี่ไม่ได้กินเท่าไร อาการปวดท้องจะเป็นตั้งแต่สมัยเรียนค่ะ ขอเรียนถามคุณหมอดังนี้ค่ะ
๑. อาการปวดท้องดังกล่าวเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารใช่หรือไม่
๒. โรคกระเพาะมีอันตรายมากน้อยอย่างไร อาหารที่กินเกี่ยวกับโรคนี้หรือไม่
๓. ต้องรีบมาทำงาน ไม่มีเวลากินข้าว ควรจะกินอะไรในช่วงเช้าทดแทนได้บ้างคะ
๔. เคยกินยาอะลัมมิลค์แล้ว แต่จะอาเจียนทุกครั้ง จึงไม่ค่อยอยากกินยานี้ ไม่ทราบมียาอะไรที่กินแทนได้ และจะมีผลเช่นเดียวกันไหม
๕. ถ้าเป็นโรคกระเพาะจริง จะมีวิธีการรักษาให้หายขาดหรือเปล่า

กรุณาช่วยตอบด้วยนะคะ

ตอบ ๑. อาการปวดท้องดังกล่าวเข้าได้กับโรคกระเพาะ
๒. โรคกระเพาะอาหารชนิดที่เป็นแผล จะมีภาวะแทรกซ้อนได้ร้อยละ ๒๐-๔๐ ที่สำคัญคือ เลือดออกจากแผลในกกระเพาะอาหารและแผลในกระเพาะอาหารทะลุ ซึ่งทั้ง ๒ ภาวะนี้จะทำอันตรายมากที่สุด
อาหารที่กินบางชนิด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม จะทำให้อาการของโรคกระเพาะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นในช่วงที่มีอาการจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว นอกจากนี้ควรระวังเรื่องการกินอาหารผิดเวลา หรือกินอิ่มมากเกินไปในแต่ละมื้อ ซึ่งจะทำให้อาการปวดท้องเป็นมากขึ้น ที่ดีที่สุดคือกินน้อยๆ แต่บ่อยๆตลอดทั้งวัน
๓. ในช่วงเช้าถ้าไม่สามารถกินอาหารได้ ควรกินขนมปังกรอบ ๓-๔ ชิ้น ร่วมกับเครื่องดื่มอุ่นๆ ๑ แก้ว หรือกินของว่างอื่นๆ ตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรปล่อยท้องว่างโดยไม่กินอะไรเลยติดต่อกันหลายชั่วโมง
๔. กินยาอะลัมมิลค์แล้วอาเจียน ถือเป็นฤทธิ์ยาข้างเคียงของยา หรืออาจเกิดจากรสและกลิ่นไม่ถูกปากก็ได้ ควรเปลี่ยนเป็นยาชนิดเม็ดจะกินง่ายกว่า หรือเปลี่ยนเป็นยาลดกรดในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นชนิดและมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป เช่น ไซเมดิดีน เป็นต้น
๕. คำว่าโรคกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปมักหมายถึงแผลในกระเพาะอาหาร แต่ความเป็นจริงโรคกระเพาะอาหารแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่มใหญ่คือ
(๑) โรคแผลในกระเพาะอาหาร
(๒) โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
(๓) โรคมะเร็งของกระเพาะอาหาร
(๔) โรคกระเพาะอาหารทำงานแปรปรวนโดยไม่มีพยาธิสภาพ (functional dyspepsia)

เนื่องจากอาการของทั้ง ๔ กลุ่มโรคนี้จะใกล้เคียงกัน ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนโดยประวัติ ดังนั้นควรได้รับการสืบค้นว่าเป็นโรคใดแน่ โดยการกลืนแป้งแล้วเอกซเรย์ดูกระเพาะอาหาร หรือโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

สำหรับโรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคที่รักษาให้หายได้แต่มักกลับเป็นซ้ำอีก ในปัจจุบันพบว่าถ้าตรวจพบมีการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Helicobacter pylori ร่วมด้วย เมื่อเราให้การรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ Helicobacter pylori ได้หมด แผลจะกลับมาเป็นซ้ำน้อยมาก และบางรายอาจหายขาดได้