• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นเบาหวาน แล้วมีแผลลุกลาม

เป็นเบาหวาน แล้วมีแผลลุกลาม

วัชราภรณ์/นครราชสีมา : ผู้ถาม

ที่บ้านของดิฉันมีป้าที่ป่วยเป็น โรคเบาหวานอยู่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยขึ้น จะมีบาดแผลที่รักษาหายได้ยาก และขยายวงกว้าง ขึ้นเรื่อยๆ ดิฉันอยากทราบว่า
- ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
- ป้าของดิฉันควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะลดการลุกลามของบาดแผลได้
- ป้าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ในขณะที่เป็นโรคนี้
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ : ผู้ตอบ
เรื่องบาดแผลที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวาน ทางการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะบาดแผลเพียงเล็กน้อยอาจลุกลามจน เป็นอันตรายได้ ถ้าควบคุมไม่อยู่จน เชื้อเข้ากระแสเลือดไปทั่วร่างกาย (เรียกว่า เลือดเป็นพิษ) ก็จำเป็นต้อง ตัดนิ้วเท้าหรือตัดขา
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคนที่เป็นเบาหวานมานานๆ ร่างกาย จะเกิดข้อบกพร่อง ได้แก่
๑. ประสาทปลายมือปลายเท้า เสื่อม ทำให้เกิดอาการชาด้าน เมื่อถูก ของมีคม (เช่น หนาม ตะปู ฯลฯ) หรือกระทบกระแทกถูกของแข็ง (เช่น ขอบโต๊ะ) ก็ไม่ระวัง เพราะไม่รู้สึก จึงมีโอกาสเกิดบาดแผลรุนแรงกว่าคนปกติได้
๒. หลอดเลือดแดงแข็งและตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณบาดแผลได้น้อยลง จึงทำให้แผลหายช้า และ ลุกลามได้
๓. ภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและลุกลามเร็ว
ข้อบกพร่องเหล่านี้มักจะเกิดกับคนที่เป็นเบาหวานมานานๆ (๕-๑๐ ปีขึ้นไป) และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ คือปล่อยให้ระดับ น้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์ปกติอยู่เรื่อยๆ
ดังนั้น คนที่เป็นเบาหวานจำเป็นต้องพยายามควบคุมระดับน้ำตาล ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตั้งแต่ระยะแรก เริ่มที่พบว่าเป็นโรค และต้องควบคุม อย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป จึง จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องดังกล่าว รวมทั้งภาวะแทรกซ้อน อื่นๆ (เช่น โรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ไตวาย ประสาทตาเสื่อม)
ข้อควรระวังสำหรับคุณป้าของคุณในขณะนี้ก็คือ ต้องพยายามป้อง กันอย่าให้เกิดบาดแผล จะทำอะไรต้องระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ (เช่น มีดบาดมือเวลาเตรียมอาหาร พื้นลื่น หกล้ม ฯลฯ) โดยอย่างยิ่งจะต้องดูแล บริเวณเท้า (ซึ่งมักจะมีอาการชา) เช่น หมั่นใส่รองเท้าหุ้มข้อเดินออกนอกบ้าน ให้ลูกหลานที่ตาดีๆ ช่วยตัดเล็บ เพื่อไม่ให้ตัดถูกเนื้อจนเป็นแผล เป็นต้น

ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลคุณป้าเกี่ยวกับขั้นตอนปฏิบัติในการดูแลเท้า เพื่อป้องกันมิให้เกิดบาดแผล
แต่ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้น ขอให้รีบทำความสะอาดบาดแผล เช่น ชะล้างด้วยสบู่กับน้ำสะอาด ใช้น้ำผึ้ง ทาบนเนื้อแผล แล้วปิดด้วยผ้ากอซที่สะอาด น้ำผึ้งเป็นยาสมานแผลอย่างดี หากดูแล ๒-๓ วันแล้ว แผลแห้งหายดีก็นับว่าปลอดภัย แต่ถ้าแผลกลับลุกลามหรือมีไข้ขึ้น ก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะ-สม อย่าปล่อยให้ลุกลามใหญ่โต จนเกิดความยุ่งยากในการรักษาได้