• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกทับเส้นประสาท

สมศักดิ์/มหาสารคาม : ผู้ถาม
มีอาการเจ็บปวดหลังมานานแล้วเนื่องจากในหลายๆ สาเหตุ แต่ที่มีอาการปวดมากๆ คือจากการที่ได้ยกของหนัก (ถังส้วมเปล่าๆ) ที่วางติดพื้นดินแต่ยกไม่ขึ้น พอตื่นเช้ามา กระดุกกระดิกตัวไม่ได้เลย ลุกไม่ขึ้น และปวดเรื้อรังมาตลอด ไปนวดแผนโบราณและรักษามาหลายวิธีก็พอทุเลาไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ดีขึ้น ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลคุณหมอก็ให้ ไปฉายเอกซเรย์ ผลออกมาว่ากระดูก ทับเส้นประสาท

คุณหมอแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด ซึ่งก็ได้ทำตามคำแนะนำแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จึงขอเรียนถามอาการ เพิ่มเติมดังนี้
๑. อาการปวดหลังกระดูกทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกถูกกดทับนี้วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการรักษาอย่างไร
๒. มีโอกาสหายเป็นปกติหรือไม่ เพราะอายุ ๖๐ ปีแล้วครับ
๓. มีอาการแสบร้อนที่บริเวณหลังและส่วนที่กดทับเวลานั่งนานๆขอทราบสาเหตุ
๔. การออกกายบริหารท่าดัดตน โยคะ หรือใช้อุปกรณ์ช่วยดึงให้กระดูกมันเคลื่อนออกจากกัน ทำบ่อยๆ จะมีผลหรือไม่
๕. การฉีดยา กินยา หรือทายา จะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุหรือไม่

นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์ : ผู้ตอบ
กระดูกทับเส้นประสาท
๑. วิธีการรักษาอาการปวดหลังจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมีหลายวิธี ได้แก่
ก. ให้พัก การพักที่ดีในช่วงแรกๆ ที่มีอาการปวดมาก คือ การนอนพัก ควรพักประมาณ ๒-๓ วัน ถ้าเป็นไม่มากอาการมักจะดีขึ้น
ข. การจำกัดกิจวัตรประจำวัน ต่างๆ ที่อาจทำให้กระดูกทับเส้นประสาทมากขึ้น เช่น การทำงานหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้มๆ เงยๆ ยกของ การขับรถทางไกล ใน ระยะแรกผู้ป่วยควรงดกิจวัตรเหล่านี้ จนกว่าอาการดีขึ้น จึงค่อยๆ เพิ่มกิจวัตรทีละเล็กละน้อย
ค. การใช้ยา ซึ่งมักได้แก่ ยาแก้ปวด ยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ(ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นยาแก้อักเสบ จากการติดเชื้อ) ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากล่อมประสาทซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วง
ง. การทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะมีขั้นตอนและวัตถุประสงค์หลายประการแล้วแต่อาการของผู้ป่วยและ ระยะของโรค ได้แก่
- ลดอาการปวดและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อโดยใช้ความเย็น หรือ ความร้อน โดยการใช้เครื่องมือต่างๆ การใช้เครื่องดึงหลัง การนวด การบริหาร เพื่อยืดกล้ามเนื้อ รวมทั้งอาจใช้อุปกรณ์ช่วยรัดเอว (L-S support)
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยลง การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อน้อยลง นักกายภาพบำบัดจะฝึกให้ผู้ป่วย บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดย เฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อขาบางรายอาจฝึกบริหารเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
จ. การผ่าตัดรักษา หากการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นไม่ได้ ผล กล่าวคือ ผู้ป่วยปวดมากจนรบกวน การปฏิบัติกิจวัตรและการประกอบอาชีพ หรือมีอาการกล้ามเนื้อขา อ่อนแรงชัดเจน หรือเป็นมากจนไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และอาการแสดงเหล่านี้เป็น ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
การรักษานั้นแพทย์จะผสม ผสานตามอาการและประเมินจากผล การรักษา ไม่มีวิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ ละราย
๒. ส่วนมากอาการมักดีขึ้น โดย การรักษาด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด มีส่วน น้อยที่ต้องผ่าตัด อายุไม่ใช่ปัญหาสำคัญมีโอกาสหายได้เช่นกัน
๓. อาการแสบร้อนเวลานั่งนานๆ มักเกิดจากเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่สะดวกจากการกดทับ จึงไม่ควรนั่งท่าเดียวนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
๔. การออกกายบริหาร มีผลลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรง เพิ่มความยืดหยุ่น สามารถทำได้บ่อยๆ โดยต้องพิจารณา จากอาการและระยะของโรคดังกล่าว ข้างต้น ส่วนการใช้อุปกรณ์ช่วยดึงไม่สามารถทำให้กระดูกเคลื่อนออกจากกันได้ การดึงเพียงช่วยให้กล้าม เนื้อยืดตัว ลดความเกร็ง ทำให้ลดอาการปวด
๕. การฉีดยา กินยา และทายา มีความจำเป็นเพื่อลดอาการเจ็บปวด อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้น แต่ไม่ได้แก้พยาธิสภาพของโรค หลักการใช้ยาให้ระลึกเสมอว่า ยาเพียงช่วยลดอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้หยุดยา ยาไม่สามารถป้องกันกระดูกกับเส้นประสาทได้