• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคซีพี

โรคซีพี


ผู้ถาม อุบลรัตน์/กรุงเทพฯ

ตอนคลอดเอาท่าก้นออก ปัจจุบันมีอาการมือและเท้าสั่น พูดไม่ชัด อยากหาวิธีรักษาให้หาย ไม่ทราบว่าการผ่าตัดจะรักษาได้หรือไม่

ขณะนี้ดิฉันอายุ ๒๓ ปี กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ดิฉันมีอาการมือและเท้าสั่นเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะตอนคลอดดิฉันเอาก้นออกแล้วต้องไปอยู่ในตู้อบระยะหนึ่ง เมื่อโตขึ้นดิฉันมีอาการพูดไม่ค่อยชัด มือและเท้าสั่น โดยเฉพาะที่มือและแขนมีอาการสั่นและกระตุก ถ้าถือแก้วน้ำที่มีน้ำเกือบเต็มแก้ว น้ำจะหกบ้าง เวลาเขียนหนังสือต้องใช้แรงกดมาก ถ้าเขียนเร็วลายมือจะแย่มาก มือซ้ายมีอาการมากกว่ามือขวาโดยไม่สามารถยกแขนได้นาน สามารถออกกำลังกายได้บ้าง เคยไปฝังเข็มแต่ไม่ดีขึ้น เคยเอกซเรย์สมอง-แขน ผลออกมาเป็นปกติ ครั้งหลังสุดไปรักษาอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งประมาณ ๒ ปีก็เลิก เพราะเกรงว่าจะกินยามากไปจะทำให้เป็นโรคไต ปัจจุบันดิฉันพยายามออกกำลังกายทุกวันดิฉันขอถามคำถามคุณหมอเป็นข้อๆ เพื่อให้หายกังวลใจและรู้วิธีช่วยตัวเองได้บ้าง

๑. โรคนี้มีทางรักษาหายไหมคะ เป็นโรคที่ติดต่อทางกรรมพันธุ์ไหมคะ

๒. ดิฉันเคยได้ยินว่าการผ่าตัดสมองช่วยได้จริงไหมคะ

๓. การออกกำลังกายช่วยทำให้ร่ายกายดีขึ้นบ้างไหม

๔. คุณหมอช่วยแนะนำสถานที่ในการรักษาหรือโรงพยาบาลมาให้ด้วยนะคะ

๕. อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นไหมคะ

 

ผู้ตอบ น.พ.ธวัช ประสาทฤทธา

โรค Cerebral palsy หรือ CP เป็นโรคที่มีการเคลื่อนไหวของแขนขาหรือมีท่าทางที่ผิดปกติ สาเหตุของโรคเกิดจากมีรอยโรคในสมองในขณะก่อนคลอด ขณะคลอด หรือหลังคลอด ส่วนใหญ่ของรอยโรคในซีพีเกิดในช่วงขณะคลอด ซึ่งอาจเป็นภยันตรายต่อเด็กขณะทำคลอด ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ หรืออาจมีเลือดออกในสมอง เด็กกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดซีพี คือ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด สาเหตุของซีพีที่เกิดหลังคลอดคือโรคติดเชื้อทางสมอง อุบัติเหตุต่อกะโหลกศีรษะ ภาวะขาดอากาศหายใจ โรคพิษตะกั่ว ขนาดความรุนแรงของซีพีอาจมีหลายแบบ ส่วนอาการที่ไม่รุนแรงคือ ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่อาจเดินงุ่นง่าน เรียนจบมหาวิทยาลัยได้ แต่อาจต้องฝึกทักษะพิเศษบางอย่างและการฝึกพูด

ซีพีที่มีอาการปานกลาง อาจต้องการความช่วยเหลือบ้างในกิจวัตรประจำวัน พูดลำบาก เวลาเดิน
หรือเคลื่อนไหวร่างกายอาจต้องการอุปกรณ์บางอย่างช่วยเหลือ สำหรับซีพีที่มีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องอยู่แต่บนรถเข็นหรือบีเตียงนอน ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้เลยประมาณร้อยละ ๘๐ ของซีพีจะมีปัญหาในเรื่องการพูด ร้อยละ ๒๐ จะมีปัญหาในเรื่องปัญญาอ่อน ร้อยละ ๑๕ จะมีปัญหาเรื่องหูหนวก ร้อยละ ๓๔ จะมีปัญหาเรื่องตาบอด และร้อยละ ๒๕ อาจมีปัญหาเรื่องอาการชัก ลักษณะพิเศษของซีพีคือเป็นโรคที่อาการจะไม่เลวลง

การรักษา โรคซีพีเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เนื่องจากรอยโรคในสมองอาจสมานหายแต่ยังคงเป็น
แผลเป็นอยู่ในสมอง จึงทำให้อาการหรือความรุนแรงต่างๆ ไม่เลวลง การรักษาจึงมุ่งให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคนรอบข้างคนไข้ต้องช่วยให้กำลังใจว่าอย่าท้อแท้หมดหวัง แต่ควรทำให้ผู้ป่วยมีความกระตือรือร้นอย่างเต็มเปี่ยมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้

การเพิ่มคุณภาพชีวิตที่อาจจะช่วยผู้ป่วยซีพีให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยการ

๑. ช่วยเหลือในด้านการศึกษาและการติดต่อสื่อสาร

๒. ช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน

๓. การเคลื่อนไหวของแขนขาข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย

๔. ช่วยเหลือในการเดินหรือเคลื่อนที่ของผู้ป่วย การรักษาโดยการผ่าตัดที่สำคัญ คือ การแก้ไข

ความพิการของแขนขาที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความไม่สมดุล และหลังผ่าตัดแพทย์ต้องคอยระวังการกลับคืนมาของความพิการที่อาจเป็นซ้ำกลับมาอีก หมอขอตอบคำถามดังนี้นะครับ

๑. ซีพีรักษาไม่หายขาดครับ แต่ช่วยให้ดีกว่าเดิมได้บ้าง โรคนี้ไม่ติดต่อทางกรรมพันธุ์ครับ

๒. การผ่าตัดสมองช่วยไม่ได้ครับ ยกเว้นอาการของโรคเกิดจากมีก้อนเนื้องอกในสมอง ซึ่งเราก็ไม่เรียกซีพี

๓. การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยทำให้ร่างกายดีขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้จิตใจแจ่มใสขึ้นอีกด้วย และจะทำให้มีความมั่นใจสูงขึ้นครับ

๔. การรักษาขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณครับ ถ้ามีปัญหาเรื่องการพูดก็ต้องไปฝึกพูดตามศูนย์ฝึกพูดต่างๆ ถ้ามีปัญหาเรื่องการใช้มือการเขียนหนังสือ ก็ฝึกหัดการใช้มือและเขียนให้มากขึ้น คุณอาจมารับการบำบัดตามศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูต่างๆ ซึ่งมีตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทุกแห่ง

๕. อาการของคุณจะไม่เป็นมากขึ้นครับ