• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การกินและเก็บยาให้ถูกวิธี

น้องนุช/นนทบุรี : ผู้ถาม

ดิฉันขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการกินยาอย่างถูกวิธีด้วยค่ะ ที่ผ่านมาเวลาไปหาหมอทั้งที่คลินิก หรือโรงพยาบาลไม่มีใคร (ทั้งหมอ เภสัชกร และพยาบาล) อธิบายให้ละเอียดถึงวิธีการกินยาให้ถูกซักที เช่น กินก่อนอาหาร หลังอาหาร ก่อนนอน ต้องกินก่อนกินหลังเป็น เวลาเท่าไร ที่ผ่านมายาก่อนอาหาร ก็จะกินก่อนอาหารจริงๆ คือ กินยาปุ๊บก็กินข้าวปั๊บ หลังอาหารก็กินหลังอาหารจริงๆ คือกินข้าวเสร็จก็กินยาตามเลย ทำให้เกิดความสงสัยว่าที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร และทำอย่างที่ผ่านมามีผลเสียอย่างไรบ้างคะ
ขอเรียนถามเรื่องการเก็บยาด้วยค่ะ ที่บ้านดิฉันยาทุกชนิดทั้ง ยาเม็ด ยาน้ำ ยาทา จะถูกเก็บในตู้เย็นหมด มีผลเสียอย่างไรบ้างคะ อยากทราบว่าควรจะเก็บยาแต่ละประเภทอย่างไรนอกจาก "เก็บให้พ้นมือเด็ก " ค่ะ

 

นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ ๕  ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น/
ภก.คทา บัณฑิตานุกูล : ผู้ตอบ

การใช้ยาให้ถูกวิธีหรือถูกทาง ควรปฏิบัติดังนี้
ยาเม็ด หรือแคปซูล วิธีใช้ยาที่ถูกต้อง คือ กลืนยาทั้งเม็ด หรือแคปซูลพร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยวยา เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ให้ยาไปแตกตัว หรือละลายที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ นอกจากนี้ยังป้องกันการรับรสที่ไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิดอีกด้วย ยาเม็ดที่ระบุว่า "ควรเคี้ยวยาก่อนกลืน" เช่น ยาลดกรด ยาขับลมบางชนิด ก็ต้องเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนพร้อมน้ำเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ดีและ เร็วขึ้น
ยาน้ำสำหรับกิน มีทั้งยาที่เป็นยาน้ำใสและยาน้ำแขวนตะกอน ซึ่งยาน้ำแขวนตะกอนก่อนรินยาต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้งเพื่อให้ตัวยากระจายทั่วขวด จึงจะทำให้ขนาดใช้ยาแต่ละครั้งมีตัวยาเท่าๆ กัน
ยาผงสำหรับกิน หากระบุให้ละลายน้ำก่อนกินก็ต้องละลายก่อน เพราะหากเทใส่ปากในลักษณะผงแห้งแล้วดื่มน้ำตามอาจเกิดอันตราย โดยเฉพาะเกิดการอุดตันในหลอดอาหารได้ หากเป็นยาผงโรยแผล เวลาใช้ต้องระวังอย่าให้ผงปลิวเข้าปาก จมูก หรือตา และเมื่อใช้เสร็จ แล้วต้องล้างมือให้สะอาด
ยาขี้ผึ้ง หรือครีม เป็นยาที่ใช้กับผิวภายนอกร่างกาย เวลาใช้ให้ ทาบางๆ วันละ ๒-๓ ครั้ง โดยไม่ต้องถูนวด

การใช้ยาให้ถูกขนาด และถูกเวลา
ขนาดยา คือ จำนวนยาที่ให้เข้าไปในร่างกายเพื่อทำให้เกิดผลในการรักษาดีที่สุด โดยทั่วไปขนาดยาที่ใช้ในแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามอายุ น้ำหนักร่างกาย และความรุนแรงของโรค ยาแต่ละชนิดจะมีจำนวนใช้ต่อวัน ไม่เหมือนกัน เช่น บางชนิดอาจกิน วันละ ๓-๔ ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ระดับ ยาที่อยู่ในร่างกายคงอยู่ในระดับที่ มีผลต่อการรักษา เช่น ยาปฏิชีวนะ ที่ต้องกินเช้า เย็น ก่อนนอน และต้องกินยาติดต่อกันจนหมด บางชนิดอาจระบุให้ใช้ทุก ๖ ชั่วโมง หรือเวลาปวดมีไข้ เนื่องจากยาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอาการก็สามารถกินยาได้เลย ยาสามารถออกฤทธิ์ รักษาได้ทันที หรือยาบางชนิดกิน เพียงวันละ ๑ ครั้ง เนื่องจากยาสามารถออกฤทธิ์ได้นาน
การกินยาก่อนอาหาร หมายความว่า ก่อนอาหารอย่างน้อย ๓๐-๖๐ นาที ทั้งนี้เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีในขณะท้องว่าง
การกินยาหลังอาหาร หมายความว่า กินยาหลังอาหารอย่างน้อย ๑๕ นาที ยาที่ให้กินหลังอาหารส่วนมากเป็นยาทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีโดยมีสารอาหารช่วยในการดูดซึม
การกินยาพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที ยาพวกที่มีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้เกิดการระคายเคือง ต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารถึงขั้นเป็นแผลทะลุได้ และยาที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หากกินขณะท้องว่าง ดังนั้นจึงต้อง มีอาหารหรือน้ำช่วยทำให้เจือจางลง ยาดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดข้อ ต่างๆ และยาแก้ปวดแอสไพริน หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
การกินยาก่อนนอน หมายความว่า ให้กินก่อนนอนตอนกลางคืน วันละ ๑ ครั้ง เท่านั้น
ดังนั้น ถ้ากินยาก่อนอาหาร แล้วกินอาหารตามทันที อาจทำให้การดูดซึมของยาเข้าสู่กระแสเลือดน้อย อาจทำให้ระดับยาในเลือดไม่ อยู่ในระดับที่มีผลต่อการรักษาได้ จึงควรกินยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ

การเก็บรักษายา
แต่ละบ้านควรจะมีตู้ยาเก็บยา โดยเฉพาะไว้จัดเก็บยาสำหรับกิน และยาใช้ภายนอก แยกออกจากกันให้เป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด ตู้ยาควรติดตั้งอยู่ในที่ที่ไม่ร้อนจัด ไม่อับชื้น และไม่ถูกแสง แดดนอกจากนี้ ควรติดตั้งไว้ในระดับที่สูงเกินกว่าที่เด็กจะหยิบถึง

ก่อนเก็บยาก็ต้องดูฉลากยาด้วยว่ามีการแจ้งวิธีการเก็บยาไว้หรือไม่ หากมี ให้จัดเก็บตามที่แจ้งไว้ ยาที่สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ ก็ควรจัดเก็บไว้ในตู้ยา ส่วนยาบางชนิดที่แจ้งไว้ว่าให้เก็บในที่เย็นก็ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ห้ามแช่แข็ง
ยาที่จะจัดเก็บควรมีฉลากยาเรียบร้อย หากเป็นยาที่แบ่งซื้อ มาควรจัดทำฉลากติดไว้ด้วย ซึ่งอย่างน้อยควรแสดงชื่อยา ส่วนประกอบซึ่งเป็นตัวยาออกฤทธิ์ ขนาดการใช้ และวันที่ซื้อยา

การเก็บรักษายาอย่างมีคุณภาพ
การมียาบางชนิดเก็บไว้ในบ้านหรือที่ทำงานนั้น ก็นับว่าเป็น สิ่งที่จำเป็นอยู่เหมือนกัน เพราะบางครั้งอาจเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ขึ้น จะได้รักษาได้ทันท่วงที จึงขอแนะนำวิธีการเก็บยาให้มีคุณภาพอยู่ได้นาน และมีความปลอดภัยต่อทุกคนในบ้านมาด้วย
โดยปกติแล้ว "ยา" ควรได้รับการเก็บรักษาไว้รวมกัน และเก็บอยู่ในตู้เฉพาะ เช่น เก็บไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน ที่มีกระจกปิดมิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ตำแหน่งที่วางตู้ยาสามัญประจำบ้านที่ดีนั้นควรตั้งให้สูงพ้นจากมือ เด็ก และควรอยู่ในที่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง นอกจากนี้แล้ว ควรอยู่ในที่ที่ไม่อับชื้นจนเกินไป และควรอยู่ให้ไกลจากความร้อนอีกด้วย ยาในตู้ยานั้นควรจัดแยกให้เป็นสัดส่วน ยาใช้กินควรแยกออกจากยาใช้ภายนอก และควรดูฉลากที่พิมพ์ว่า"ยาใช้ภายนอก "ที่เป็นตัวอักษรสีแดง ต้องเห็นได้ชัดเจน ยาทุกชนิดต้องบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท แน่น และมีฉลากติดให้เรียบร้อย นอกจากยาที่อยู่ในตู้ยาแล้ว อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นก็ควรจัดเก็บแยกไว้ต่างหาก เช่น ถ้วยหรือช้อนตวงยา สำลี ผ้าพันแผล ปลาสเตอร์ รวมไปถึงปรอทวัดไข้ด้วย นอกจากนั้น ยาบางชนิดควรแยกเก็บไว้ในตู้เย็น เช่น ยาหยอดตาที่มีตัวยาปฏิชีวนะ และมีกำหนดอายุการใช้งาน

การเก็บรักษายาอย่างถูกวิธีนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากเราเก็บรักษาไม่ดีแล้ว ยาอาจเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุที่แสดงบนฉลาก และเมื่อเรานำมาใช้ก็อาจส่งผลเสียมากกว่าที่จะให้ ผลในทางการรักษาได้ เมื่อได้รู้ ถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเก็บรักษายาอย่างมีคุณภาพ และ หากได้ปฏิบัติตามแล้ว เมื่อถึงยามจำเป็นหรือเกิดเหตุเจ็บป่วยกะทันหันขึ้น เราก็จะสามารถหยิบยา มาใช้ได้ทันท่วงทีก่อนถึงมือแพทย์นั่นเอง
การเก็บยาต้องให้อยู่พ้นมือเด็ก ฉลากไม่เลอะเลือน อยู่ในที่ที่ระบุไว้ หรือไม่ให้ถูกแสงแดดหรือ ความร้อน ขอสรุปง่ายๆ ดังนี้คือ
1. เก็บให้พ้นมือเด็ก
2. ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
3. เก็บให้ห่างจากความร้อน และแสงแดด
4. ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และ ที่ชื้นอื่นๆ
5. ควรนำสำลีที่ยัดมาในขวดออกทิ้งไป เนื่องจากสำลีเป็น ตัวดึงความชื้นเข้าสู่ขวดยาได้
6. ไม่ควรแช่ยาในช่องแช่แข็ง
7. ไม่ควรเก็บยาในตู้เย็น นอกจากยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้อักเสบที่ต้องผสมน้ำก่อนใช้ ยาหยอดตาที่เปิดขวดแล้ว ยาเหน็บที่ต้องการให้คงรูป คซีน ยาฉีดอินซูลิน
8. ไม่ควรเก็บยาในรถยนต์
9. ควรทิ้งยาที่หมดอายุแล้วทันที
10. ในการทิ้งยา ต้องแน่ใจว่ายาได้ถูกทิ้งอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันเด็กไปรื้อค้นมาเล่น