• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กายภาพบำบัดหลังผ่าตัด

กายภาพบำบัดหลังผ่าตัด


ผู้ถาม นิตยา/พิษณุโลก

สามีประสบอุบัติเหตุอวัยวะภายในได้รับความบอบช้ำ หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเช่นคนปกติ

สามีของดิฉันขี่รถจักรยานยนต์แล้วถูกรถบรรทุก ๖ ล้อเฉี่ยวชน ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมาก ดิฉันมีคำถามที่จะรบกวนเพื่อขอคำชี้แนะ ดังนี้

๑. คนที่อวัยวะภายในได้รับความบอบช้ำ หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเช่นคนปกติ

๒. ข้อศอกด้านซ้ายมือของสามีแตกละเอียด มีกระดูกบางส่วนหายไป คุณหมอที่รักษาได้ใส่เหล็กไว้ ขณะที่นอนแขนช่วงบนจะลีบและเนื้อเหลวกว่าปกติ แขนเหยียดตรงไม่ได้ ใช้งานแทบไม่ได้เลย เวลาเดินแขนจะกางออกดูเก้งก้าง สามีดิฉันควรจะบริหารหรือทำอย่างไรดีคะ เพื่อให้แขนข้างซ้ายกลับมาใช้งานได้เช่นปกติ


ผู้ตอบ อาจารย์นวลอนงค์ ชัยปิยะพร

๑. หลังจากที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยอาจมีแผลทางด้านข้างลำตัว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณนั้นได้ และทำให้ผู้ป่วยหายใจตื้นและเบา ซึ่งอาจทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ปอดแฟบ หรือภาวะปอดอุดกั้นเนื่องจากเสมหะคั่งค้างจากสาเหตุที่ปอดมีการขยายตัวไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพการไอลดลง

การออกกำลังกายในผู้ป่วยหลังผ่าตัดนั้นควรทำด้วยความระมัดระวัง ทำด้วยจำนวนน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มตามความสามารถของผู้ป่วยเท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ โดยควรเน้นที่แขนและขาเป็นพิเศษ เช่น ยกแขนเต็มช่วงการเคลื่อนไหว กางแขนงอศอก เหยียดศอก งอข้อมือและนิ้วมือ ส่วนที่ขาก็ทำเช่นเดียวกัน เช่น งอเข่า งอสะโพก กระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพราะช่วยป้องกันภาวะขาบวมได้ รวมไปถึงควรค่อยๆ ปรับเตียงให้ผู้ป่วยสามารถนั่งได้ เพราะผู้ป่วยนอนนานไปเมื่อให้ยืนหรือนั่งผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะได้ เนื่องจากร่างกายปรับความดันได้ไม่ดีพอ แต่อาการนี้จะค่อยๆ หายไปจนผู้ป่วยเคยชิน แล้วจึงให้ออกกำลังโดยห้อยขาข้างเตียง เช่น เตะขา ฯลฯ จนสามารถนำผู้ป่วยมายืนและเดินได้ในที่สุด ซึ่งในครั้งแรกๆ ควรช่วยเหลือและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยอบอุ่นใจและความกลัวลดน้อยลง

๒. จากการที่ข้อศอกแตก ได้รักษาด้วยการดามเหล็กไว้ภายในและต้องอยู่นิ่ง ห้ามเคลื่อนไหวเพื่อให้กระดูกที่แตกหักติดกัน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นและใกล้เคียงลีบและอ่อนแรง มีการยึดติดของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อจึงอาจงอและเหยียดข้ออกได้ไม่เต็มที่

การรักษาทางกายภาพบำบัด

๑. จะใช้ประคบด้วยความร้อนโดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดพอหมาดเช็ดประคบรอบข้อประมาณ ๑๕ นาที หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนก็ได้ แต่อย่าร้อนจัดเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อศอกคลายตัวก่อน

๒. การออกกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อศอก

๒.๑ ให้นั่งหรือยืน แขนอยู่ข้างลำตัว งอและเหยียดข้อศอกให้สุดการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจใช้ตุ้มน้ำหนัก เช่น ถือดัมเบลล์ ควรเริ่มจากน้ำหนักน้อยๆ ก่อน พอทำแล้วกล้ามเนื้อไม่สั่นค่อยเพิ่มจำนวนครั้งหรือเพิ่มน้ำหนักขึ้นทีละน้อย

๒.๒ ให้ยกแขน (ไหล่) ขึ้นเหนือศีรษะ งอข้อศอกและเหยียดข้อศอกขณะแขนชูอยู่สูงเหนือศีรษะ

๒.๓ ให้แกว่งแขนไปมาขณะมือถือตุ้มน้ำหนักเพื่อให้ข้อศอกเหยียดออก

นอกจากนี้ควรจะออกกำลังกล้ามเนื้อรอบไหล่ด้วย จะได้ช่วยให้ข้อศอกแข็งแรงเร็วขึ้น ถ้ามีปัญหาควรจะไปปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป