• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สงสัยว่าเป็นโรครูมาตอยด์ หรือเปล่า

 ศรีพร/นครศรีธรรมราช : ผู้ถาม

ปัจจุบันดิฉันอายุ ๒๔ ปี (ยังไม่ได้แต่งงาน) ดิฉันมีปัญหาเกี่ยวกับโรคข้อกระดูก คือดิฉันปวดตามข้อมาประมาณ ๔ ปีแล้ว จะปวดตามข้อทุกๆ ข้อตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเล็ก-ข้อใหญ่ เวลาปวดก็จะมีอาการปวดบวมร่วมด้วย โดยเฉพาะที่ข้อมือ
เวลาปวดก็จะกินยาที่คุณหมอให้มาทุกวัน วันละครั้ง วันไหนกินยาอาการก็ดีเป็นเหมือนปกติ แต่วันไหนตั้งใจจะลองหยุดกินยาอาการปวดก็เริ่มมีขึ้นโดยเริ่มที่ข้อนิ้ว เป็นมาอย่างนี้ตลอด
ยาที่ได้จากโรงพยาบาล คือ แอสไพริน ไดโคลฟีแน็ก ไอบูโพรเฟน ไพร็อกซิแคม
ขอเรียนถามคุณหมอดังนี้ค่ะ
๑. โรคที่ดิฉันเป็นคือโรครูมาตอยด์หรือไม่ สาเหตุเกิดจากอะไร มีทางจะหายขาดไหม (คุณหมอที่ดิฉันรักษาอยู่บอกว่าหายแน่ แต่ต้องเป็นช่วงที่ประจำเดือนขาด หรือถ้าแต่งงานบางทีโรคก็จะหาย ไม่ทราบเกี่ยวกันอย่างไร)
๒. นอกจากกินยาแล้ว ไม่ทราบว่าถ้าปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน หรือพฤติกรรมการกินอาหาร จะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงไหม
๓. ยาที่กินจะมีผลข้างเคียงต่อกระดูกไหม (กลัวกระดูกผุ)
 

นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์ : ผู้ตอบ

๑. ตามอาการที่คุณเล่ามายัง ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นโรครูมาตอยด์หรือไม่ แต่แพทย์ที่ตรวจรักษาอยู่อาจซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเจาะเลือด เพื่อช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โรครูมาตอยด์ที่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน ผู้ป่วยมักมีอาการปวด บวม ตามข้อที่แขนขาทั้ง ๒ ข้าง และมักมีอาการเป็นติดต่อกันนานเป็นเดือน อาการเป็นมากขึ้นหรือน้อยลงในแต่ละช่วงเวลา มีบางรายที่อาการอาจหายติดต่อกันนานเป็นปี แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าหายขาดหรือไม่ การขาดประจำเดือนหรือการแต่งงานไม่มีผลเกี่ยวกับการหายขาด
การรักษานั้นแพทย์สามารถ ให้ยาที่ควบคุมอาการปวดและบวม ลดลงทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในการประกอบกิจวัตรประจำวัน และประกอบอาชีพ
๒. การกินอาหารไม่น่าจะมีผลต่อโรครูมาตอยด์ แต่อาจต้องระวังอาหารเนื่องจากยาที่กินเพราะว่ายารักษาอาการปวดบวม ส่วนมากมีผลระคายต่อกระเพาะอาหาร และยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการบวมได้มากขึ้น ข้อแนะ นำคือ ควรลดอาหารเผ็ดและเค็ม
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันอาจมีส่วนช่วยให้มีอาการปวดน้อยลง เช่น ลดการใช้ข้อที่เจ็บในการทำงานหนัก วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ ให้สังเกตว่าการปฏิบัติตัวอย่างไรทำให้ปวดมากขึ้น ก็ควรละเว้นกิจกรรมนั้น หรือทำกิจกรรม นั้นด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
๓. ยาต้านอักเสบที่คุณกินอยู่ ถ้ากินนานๆ อาจมีผลต่อกระดูกทำให้ข้อเสื่อมมากขึ้นได้ เนื่องจากมีผลต่อการซ่อมแซมกระดูกอ่อนที่บุผิวข้อ