• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นั่งจ้องหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ

พัชรา/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม

หนูขอเรียนถามคุณหมอเกี่ยว กับสายตาดังนี้ค่ะ คือเวลาหนูทำรายงานหนูจะใช้คอมพิวเตอร์ (และบางครั้งก็จะเล่นเกมกับคอมพิวเตอร์ด้วย) และ เวลาใช้คอมพิวเตอร์แต่ละครั้ง ก็จะนั่งอยู่หน้าจอประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง  ซึ่งค่อนข้างบ่อยค่ะ และเคยทราบมาว่า ถ้านั่งจ้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ จะทำให้สายตาเสีย ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่าคะ เพราะกลัวว่าโตขึ้นหนูจะต้องใส่แว่น (ไม่อยากใส่แว่นค่ะ) ควรจะแก้ไขหรือป้องกันอย่างไรคะ
ขอความกรุณาคุณหมอช่วย ตอบด้วยนะคะ

พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต : ผู้ตอบ

การใช้คอมพิวเตอร์บ่อยๆ และครั้งละนานๆ ไม่ทำให้สายตาเสียอย่างที่หนูเข้าใจ บางคนกลัวว่าทำให้เกิดสายตาสั้น ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัด แม้ว่าจะมีคนสังเกตพบว่าผู้ชอบอ่านหนังสือมากๆ มีโอกาสสายตาสั้นที่เรียกว่า school myopia ภาวะสายตาสั้นจนถึงปัจจุบัน ก็ยังม่มีใครทราบสาเหตุที่ชัดเจน มีปัจจัยหลายๆอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ การ ใช้สายตา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การนั่งจ้องหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ อาจทำให้เกิดการเมื่อยตา ตาล้า ซึ่งอาจแสดงเป็นอาการแสบตา คันตา ตาพร่ามัว ปวดตา ปวดศีรษะ ตาแห้ง กะพริบตาบ่อยๆ บางคนมีอาการรุนแรงจนทำงานต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้เกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งต้องทำงานปรับภาพให้ชัด อยู่ตลอด อีกทั้งตาต้องจ้องอยู่หน้าจอจนทำให้กะพริบน้อยลง ตาแห้งก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น และถ้าเราเพ่งตาอยู่นานๆ จะเกิดภาวะสายตาสั้นเล็กน้อยชั่วคราว ถ้าเลิกเพ่งก็จะหายไป

ไหนๆ ยุคนี้ทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์กันแล้วมาป้องกัน มิให้เกิดภาวะตาเมื่อยล้าโดยการ
๑. จัดปัจจัยเกี่ยวกับจอคอมพิวเตอร์ และความสว่างในห้องให้ พอเหมาะ สบายตา
๒. ขจัดแสงจ้า (glare) ที่เกิดจากแสงจ้าจากหลอดไฟในห้อง หรือแสงจากหน้าต่างที่กระทบผิว มันแล้วสะท้อนเข้าตาเรา ตลอดจนแสงสะท้อนจากจอรับภาพอาจจะใช้ฟิล์มกรองแสงช่วย
๓. แสงกะพริบจากจอภาพต้องให้น้อยที่สุด
๔. จัดโต๊ะตั้งคอมพิวเตอร์ให้เหมาะกับระดับตา ให้จอห่างจากตา ๓๕-๖๐ เซนติเมตรจากที่นั่ง ให้ตามองลง ๑๕-๒๐ องศา จากแนวราบมายังจอรับภาพ อย่าให้แหงนมองจอภาพเพราะท่าแหงนมองก่อให้เกิดเมื่อยตาได้มาก
๕. ไม่ควรจ้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลาติดๆ กันเกิน ๒ ชั่วโมง มีคนศึกษาพบว่าถ้าผู้ใหญ่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ๓.๕ ชั่วโมง จะเกิดอาการไม่สบายตาได้ร้อยละ ๙ ถ้าเพิ่มเวลาทำงานจาก ๓.๕ ชั่วโมง เป็น ๖ ชั่วโมง จะมีอาการไม่สบายตาถึงร้อยละ ๔๕ (เวลาเพิ่มไม่ถึง   ๒ เท่า แต่มีคนมีอาการเพิ่มถึง ๕ เท่า) ระยะเวลาที่เหมาะคือทำงาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ ๒ ชั่วโมงหยุดพักไปทำงานอื่น ๑๕ นาที แล้วค่อยกลับมาทำใหม่

หลายๆ คนสงสัยกันว่า หน้าจอภาพมีรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมามากมาย จริงอยู่หากใช้เครื่องตรวจจะพบรังสีอัลตราไวโอเลต อินฟราเรด รังสีเอ็กซ์ไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ เป็นต้น แต่มีจำนวนน้อยมากต่ำกว่าจำนวน ที่กำหนดไว้ในกรณีต้องสัมผัสตลอดเวลา จึงถือว่าไม่มีอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด