• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาดำเขเข้าใน

ตาดำเขเข้าด้านใน อยากทราบว่า จะมีวิธีไหนบ้างที่จะรักษาให้หาย โดยไม่ต้องผ่าตัด
ผู้ถาม
พรเพ็ญ/นครราชสีมา
ผู้ตอบ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต 

ถาม หนูมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาจะขอเรียนถามคุณหมอดังนี้ค่ะ คือตาดำของหนูจะเขเข้าด้านใน หนูอยากทราบว่า จะมีวิธีไหนบ้างที่จะรักษาให้หาย (แต่หนูก็ไม่อยากผ่าตัดนะคะ) จะไปรักษาได้ที่โรงพยาบาลไหนบ้าง ค่ารักษาประมาณเท่าไร และพร้อมกันนี้หนูได้ส่งรูปมาให้คุณหมอดูด้วยค่ะ
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ 

ตอบ จากรูปที่หนูส่งมาให้ดู ยังมองไม่ชัดว่าหนูมีตาเขตามที่หนูเข้าใจหรือไม่ เนื่องจากภาพถ่ายไม่ค่อยชัดเจน เท่าที่เห็นดูเหมือนจะไม่เข ถ้าจะเป็นก็คงเป็นตาเขเทียมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจยืนยันจากรูปถ่ายที่แน่นอน หมอขอแนะนำให้หนูไปรับการตรวจจากจักษุแพทย์ที่อยู่ใกล้ๆ หนูอยู่โคราช โรงพยาบาล มหาราชนครราชสีมามีจักษุแพทย์ประจำหลายท่าน หนูน่าจะไปขอรับคำปรึกษาได้

                                           

ไหนๆหนูก็ถามเรื่องตาเขเข้าในมาแล้ว ก็ขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับตาเขเข้าใน ซึ่งหมายถึงภาวะเมื่อมองตรง ไปข้างหน้าจะ พบว่าตาข้างหนึ่งมองตรง อีกข้างตาดำจะเข้าในหัวตามากกว่าปกติ อาจจะเป็นตลอดเวลาคือ ไม่ว่าจะมองไปที่ไหน ตาข้างนั้นจะเขเข้าในตลอด หรือเป็นบางครั้ง (intermittent) หมายถึง บางครั้งอาจแลดูตาตรงดี บางครั้งจะแสดงอาการตาเข หรือบางครั้งตาผลัดกันเข ประเดี๋ยวตาขวาเขเข้า ประเดี๋ยวซ้ายเขเข้า (alternate)

โดยทั่วไปภาวะตาเขเข้าในมักจะหาสาเหตุไม่ได้ อาจเป็นเรื่องของความผิดปกติของกายวิภาคของกล้ามเนื้อตา ภาวะกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสายตา และอื่นๆ อาจแบ่งตาเขเข้าในออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่
๑. ตาเขเข้าในเทียม กลุ่มนี้ตาไม่เข แต่ด้วยสรีระของรูปหน้า เช่น มีดั้งจมูกแบนและกว้าง หนังตา บนหรี่ลง ทำให้แลดูหลอกตาเหมือน ว่าผู้นั้นตาเข(อาจจะเป็นตัวอย่างของ หนูก็ได้) ภาวะเช่นนี้เมื่อเด็กโตขึ้นรูปหน้าเปลี่ยนไป มีดั้งจมูกเกิดขึ้น การแลเห็นว่าตาเขจะหายไป ภาวะ นี้ไม่ต้องรับการรักษา
๒. ตาเขเข้าในชนิดเป็นตั้งแต่กำเนิด ได้แก่ ภาวะตาเขที่เกิดภายในอายุ ๖ เดือน ภาวะนี้มักจะต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด ระยะเวลาที่เหมาะสมให้อยู่ในดุลยพินิจของจักษุแพทย์
๓. ตาเขเข้าในที่เกิดภายหลัง
- ในกลุ่มนี้ที่พบบ่อยคือ ภาวะสายตายาวมากกว่าปกติ ทำให้ เกิดตาเข มักพบในเด็กอายุเฉลี่ย ๒.๕ ปี เห็นได้ชัดในระยะแรกเมื่อเด็กสนใจและจ้องอะไร ตาจะเข แต่ถ้าทำตาเหม่อๆ ตาจะหายเข ต่อไปอาการเขจะเป็นบ่อยขึ้นและคงที่ตลอด ตาเขชนิดนี้สามารถแก้ไขโดยการใส่แว่นตาไม่ต้องผ่าตัด
- ตาเขเข้าในที่เกิดทีหลัง บางคนอาจไม่พบสาเหตุชัดเจน การรักษาโดยการผ่าตัด
- อีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ตาเข เนื่องจากมีความผิดปกติ อาจจะเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อกลอกตาบางมัด กลุ่มนี้มักจะมีสาเหตุความผิดปกติทางสมอง

อนึ่ง ภาวะตาเขนอกจากรักษา ด้วยแว่นสายตา การผ่าตัดกล้ามเนื้อในกรณีตาเขเข้าในเล็กน้อย อาจจะใช้วิธีสวมแว่นซึ่งมีปริซึมอยู่ มักจะใช้ในรายตาเขเข้าที่รับการผ่าตัดแก้ไข แล้วยังมีมุมเขเหลืออีกเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ภาวะตาเขเข้าแม้จะไม่มีอาการเจ็บปวด ในบางครั้งอาจจะเข้าใจว่าการทำงานของตา หรือมีการเห็นปกติดี จริงอยู่การทดลองปิดตาทีละข้างอาจจะพบว่าตาเห็นดี แต่ตาทั้ง ๒ ข้างจะไม่ทำงานร่วมกัน คุณภาพการมองเห็นไม่ดี การเห็น ๓ มิติเป็นไปได้ยาก โดยสรุปตาเขนอกจากดูไม่สวยงามเสียบุคลิก การทำงานของตาไม่ปกติ การรับการตรวจและรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้ตากลับสู่ ปกติ มีการทำงานที่สมบูรณ์ ถ้าทิ้งไว้มาแก้ไขตอนโตจะแก้ไขเฉพาะความสวยงามคือ ตาดูตรงดี แต่คุณภาพการเห็นไม่สมบูรณ์