• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาสู้แสงไม่ได้

ตาสู้แสงไม่ได้
 

ผู้ถาม กาญจนา/โคราช

คุณแม่มีอาการตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้จึงพาไปหาจักษุแพทย์ หมอบอกว่า คุณแม่จอประสาทตาเสื่อม และไม่ทราบว่าจอประสาทตาเสื่อมจะสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ไหม

คุณแม่อายุ ๖๘ ปี สูง ๑๕๕ เซนติเมตร น้ำหนัก ๖๒ กิโลกรัม คุณแม่มีอาการตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้จึงพาไปหาจักษุแพทย์ หมอบอกว่า คุณแม่จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งเป็นโรคธรรมดาของคนสูงอายุ และรักษาให้หายไม่ได้ หมอจึงจ่ายยาบำรุงประสาทตามา แต่ไม่ได้รักษาอะไรอีก ดิฉันอยากทราบว่าจอประสาทตาเสื่อมสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ไหมคะ คุณแม่จะได้มองเห็นอะไรชัดขึ้น

 
ผู้ตอบ ศ.พ.ญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

จากปัญหาคุณแม่ของคุณซึ่งอายุ ๖๘ ปี มีอาการตาพร่ามัว และแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าประสาทตาเสื่อม ซึ่งเป็นโรคธรรมดาในคนสูงอายุและรักษาไม่ได้ คาดว่า คงเป็นโรคจอประสาทตาส่วนกลางเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration) มีโรคที่คล้ายๆ กัน ระหว่างจอประสาทตาเสื่อมและประสาทตาเสื่อม โดยทั่วไปคนมักจะใช้คำสับสน คำว่า จอประสาทตาเสื่อมหรือจอตาเสื่อมหมายถึงโรคของเรตินา (retina) ส่วนประสาทตาเสื่อม หมายถึง โรคของ optic nerve

ในกรณีของคุณแม่ของคุณเป็นจอประสาทตาส่วนกลางเสื่อม ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญของสายตาพิการในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมลงของจอประสาทตาบริเวณตรงกลาง ทำให้มีการสูญเสียเซลล์รับรู้การเห็น ผลคือ ทำให้ผู้ป่วยสายตามัวลงอย่างช้าๆ บางรายอาจมองเห็นภาพบิดเบี้ยว การมองเห็นสีผิดไป ถ้าเป็นข้างเดียวจะ พบว่า การมองเห็นสีต่างแตกกันในตาทั้ง ๒ ข้าง เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมจึงพบมากในผู้สูงอายุ ได้มีการศึกษาว่าโรคนี้อาจมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น อายุมาก ภาวะม่านตาสีจาง (โรคนี้จึงมักพบในฝรั่งมากกว่าคนไทย) ประวัติเป็นโรคนี้ในครอบครัว การสูบบุหรี่ บางคนก็เชื่อว่าแสงแดดจ้าๆ อาจเป็นเหตุให้เสื่อลงเร็ว เป็นต้น

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลดีในโรคนี้ มีการใช้แสงเลเซอร์มาช่วยรักษาในบางราย อาจช่วยลดการสูญเสียระดับสายตาลงได้บ้าง ซึ่งต้องอาศัยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอประสาทตาโดยเฉพาะ โดยทั่วไปถ้าพบผู้ป่วยเป็นตาข้างเดียว จักษุแพทย์จะแนะนำผู้ป่วยเฝ้าระวังตาอีกข้าง ถ้าเริ่มเห็นสีผิดไป ภาพบิดเบี้ยวให้มาพบแพทย์ แพทย์จะใช้วิธีฉีดสีเข้าหลอดเลือดที่แขน สีจะวิ่งไปตามหลอดเลือดไปถึงหลอดเลือดที่จอประสาทตา ถ้าพบความผิดปกติชัดเจนใยบริเวณที่ใช้แสงเลเซอร์ได้ก็จะให้รักษาด้วยแสงเลเซอร์ หรือในผู้ป่วยที่เป็นมากจนมีหลอดเลือดเกิดใหม่บริเวณจอตามประสาทส่วนกลางฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกและตามัวมากอย่างฉับพลัน หมายความว่า เดิมทีแค่ตามัวแต่ยังพอมองเห็น ถ้าเกิดหลอดเลือดฉีกขาดจะมืดลงทันที ในกรณีนี้ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดน้ำวุ้น หลังผ่าตัด สายตาจะดีขึ้นกลับมามัวเท่าเดิม แต่จะไม่กลับมาปกติ

ขอแนะนำในกรณีของคุณแม่คุณ ถ้าเป็นโรคนี้จริง โดยทั่วไปโรคนี้จะมองไม่ชัดตรงกลาง แต่ส่วนข้าง ๆ ยังเห็น มักจะเดินไม่ชนแต่ใช้สายตาดูงานละเอียดไม่ได้ เช่น อ่านหนังสือลำบาก ถ้าอยากอ่านหนังสือควรจะพาคุณแม่ไปหาจักษุแพทย์ เพื่อใช้อุปกรณ์ช่วยสายตาเลือนลาง เข้าใจว่าโรงพยาบาลนครราชสีมาน่าจะมีบริการนี้ให้ อาจจะมีเครื่องช่วยสายตาช่วยคุณแม่ได้บ้าง อีกทั้งควรพาคุณแม่ไปรับการตรวจเป็นระยะๆ หากอยู่ในภาวะที่รักษาด้วยแสงเลเซอร์ได้จะได้รับการรักษา